รอดตามคาด! ศาลรธน.ชี้ “ประยุทธ์”ทำคุณประโยชน์ให้ชาติ มีสิทธิ์พักบ้านหลวง

  • ถือว่าเป็นไปตามระเบียบ
  • ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนตามรัฐธรรมนูญ
  • ทำให้การดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่สิ้นสุดลง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 ธ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมเพื่อนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5)และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

ก่อนออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในเวลา 15.00 น. จากกรณีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กับคณะ เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภา ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดลง อาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากยังอยู่บ้านพักทหาร ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์พักอาศัย เพราะเกษียณอายุราชการไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งอาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์

โดยศาลอ่านคำวินิจฉัยแล้วเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เกษียณอายุราชการจากผบ.ทบ. และเคยเป็นผบ.ทบ.ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติ และไม่ได้เข้าพักในสถานะเดียว รวมทั้งเป็นการดูแลความปลอดภัย เพื่อสร้างความพร้อมด้านจิตใจในการบริหารประเทศ แม้จะมีบ้านพิษณุโลก แต่การบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้ เพื่อความสมเกียรติ กองทัพบกจึงสนับสนุนบ้านพักมาตั้งแต่เป็นผบ.ทบ.ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้การที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้าพักยังบ้านพักของกองทัพบก เป็นไปตามระเบียบ จึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนตามรัฐธรรมนูญ ทำให้การดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่สิ้นสุดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นมลทินมาแล้ว 2 คดี โดยคดีแรก กรณีพล.อ.ประยุทธ์ และครม. ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนอาจขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562 ไม่รับคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ

คดีที่สอง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค ขอให้พิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่ เพราะช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นหัวหน้า คสช. ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญ ไม่อาจลงสมัครเลือกตั้งได้ตั้งแต่ต้น โดยวันที่ 18 ก.ย. 2562 ศาลวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจ และเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ หัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับหน่วยงานราชการ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ