รอชมเซอร์ไพรส์!ต่างชาติขนทัพลงทุน 5G มาไทยรอผลก่อนกลางปีนี้

  • บอร์ดอีอีซีเล็งปี 2564 เกิดการลงทุนจริงร่วม 4 แสนล้านบาท
  • ได้เห็นเม็ดเงินโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ในปี 2564 จะมีเงินลงทุนจริงในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนในโครงการไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท และเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือ รวมประมาณ 100,000 ล้านบาท ขณะที่ก่อนกลางปีนี้จะมีเซอร์ไพรส์ของการย้ายฐานการลงทุนเทคโนโลยี 5G จากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ เข้ามาในไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรี เน้นเปิดกว้างให้เกิดการกระจายการลงทุนจากนักลงทุนจากหลายประเทศ

“ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 208,720 ล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ซึ่งในปี 2563 มีการระบาดของโควิด -19 ทำให้นักลงทุนยังเข้ามาดูที่ดินและลงทุนในประเทศไทยไม่ได้ จึงมีการลงทุนจริงไปเพียง 46% จากที่ขอบีโอไอไว้ นำโดยญี่ปุ่นอันดับ 1 ที่ 50,455 ล้านบาท ตามด้วยจีน 21,831 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์ 13,996 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าในปีนี้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โครงการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอไว้แล้ว ก็จะมีการลงทุนจริงในปี 2564 อีกทั้งตัวเลขขอรับบีโอไอในปี 2564 ก็จะกลับไปอยู่ระดับเดียวกับปี 2562 ที่ กว่า 382,410 ล้านบาท”

เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G และการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่อีอีซี เพื่อปรับสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัล ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการใช้ประโยชน์ ด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านการมีส่วนร่วม และประชาสัมพันธ์ สำหรับประเทศที่จะเข้ามาลงทุน 5G ในไทยจะมีมาจากหลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน สหรัฐฯ ซึ่งอนาคต 5G ของไทย คือ ขายบริการข้อมูลให้ประเทศเพื่อนบ้าน และจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค

“ขณะนี้ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในด้านสัญญาณได้ติดตั้งท่อ เสา สาย และสัญญาณเกิน 80% ของพื้นที่อีอีซี ประเมินว่าจะมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 เท่าของเงินลงทุน ถ้านับทั่วทั้งประเทศไทยลงทุนไปแล้ว 400,000 ล้านบาท ก็จะเกิดธุรกิจตามมาร่วม 2 ล้านล้านบาท ส่วนพื้นที่อีอีซีจะเพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต โดยผลักดันภาคธุรกิจ โรงงาน 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง หน่วยราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มาใช้ 5G ซึ่งมีการนำร่องใช้ 5G บริเวณสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด”

นายคณิศ กล่าวด้วยว่า ได้นำ 5G มาสร้างประโยชน์ให้ชุมชน โดยผลักดันให้บ้านฉางก้าวสู่ต้นแบบชุมชนอนาคต หรือสมาร์ท ซิตี้ และนำ 5G มาพัฒนาภาคเกษตร เพื่อให้เกิดระบบเกษตรอัจฉริยะและสนับสนุนการใช้ดิจิทัลดูแลสุขภาพชุมชน ส่วนการสร้างธุรกิจใหม่ มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก 5G มีทั้งการพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น ส่งเสริมสตาร์ทอัพทำแอพลิเคชั่นด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่น