รวยไม่รู้ตัว…เกษตรกรไทยแห่ปลูกอินทผลัมพืชเศรษฐกิจมาแรงแห่งยุค

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอินทผลัมเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังมาแรง เกษตรกรให้ความสนใจเพาะปลูกมากขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่ายเก็บผลผลิตได้ในระยะเวลานาน ให้ผลตอบแทนสูง และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีการปลูกอินทผลัมประมาณ 100 ไร่ ให้ผลผลิตรวมกว่า 31,835 กก./ปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) ติดตามสถานการณ์การผลิตและผลตอบแทนอินทผลัม พบว่า พื้นที่ปลูกกระจายอยู่หลายอำเภอ ส่วนใหญ่พบในอำเภอน้ำพอง ภูเวียง และหนองเรือ เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์บาร์ฮี (Barhi) เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ปลูกและดูแลง่าย ให้ผลผลิตสูง และมีรสชาติหวาน กรอบ เหมาะสำหรับรับประทานผลสด

ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมปลูกโดยใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อ ซึ่งนำเข้าจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ราคาประมาณ 1,800 – 2,300 บาท/ต้น ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพใกล้เคียงกันทุกต้น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 37,301 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวผลผลิตระยะยาว) นิยมปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 500 – 2,000 กก./ไร่ (เฉลี่ย 20 – 80 กก./ต้น) คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 383,240 บาท/ไร่ ราคาผลสดที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 300 – 800 บาท/กก. ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของผลผลิต

สำหรับการจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 แบ่งเป็นจำหน่ายทางออนไลน์และมีลูกค้าประจำมาเลือกซื้อที่สวน ส่วนผลผลิตร้อยละ 20 มีพ่อค้าคนกลางทั้งในและนอกจังหวัดขอนแก่นมารับซื้อที่สวน เพื่อส่งขายต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียง นอกจากจะจำหน่ายแบบผลสดแล้ว เกษตรกรยังนำผลผลิตอินทผลัมมาแปรรูปเป็นน้ำอินทผลัม และอินทผลัมอบแห้ง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย