รวมข้อเสนอเยียวยา “โควิด”

หลังจากการระบาดของโควิดรอบที่ 3 ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรอบที่หนักที่สุดของประเทศไทย และในจนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถจำกัดวงของผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงในจำนวนที่น่าพอใจ

สำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจ ภาคเอกชน และองค์กรภาคเอกชน ต้องปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงจากคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3% ลงเหลือ 0-2% และอาจจะถึงขั้นขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ได้หากเกิดกรณีเลวร้ายที่ไม่สามารถคุมการระบาดได้

ขณะเดียวกัน ในฝั่งเอกชน แม้รัฐบาลจะไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ในรอบนี้ แต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้หารือกัน เพื่อ “หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดลงชั่วคราว ลดชั่วโมงการทำงานของพนักงาน รวมทั้งนำมาตรการ Work From Home กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด19 ระลอก 3 ซึ่งผู้ติดเชื้อใหม่สะสมใกล้ทะลุ 30,000 คนไปแล้วในขณะที่เขียนนี้

และนอกเหนือจากข้อเสนอที่เร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุดแล้ว นักวิชาการ และภาคเอกชน ยังมีการเสนอแนวทางต่างๆ ต่อภาครัฐ โดยคาดว่าจะนำไปเสนอในการประชุมระหว่างรัฐและเอกชนในวันที่ 28 เม.ย.นี้ที่พอสรุปได้ 5 ข้อ…ดังนี้

ข้อที่ 1.เร่งการจัดหาและกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น

การเร่งรัดเพื่อให้ประเทศมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาะในการป้องกันโรคได้อย่างเพียงพอ และเมื่อมีวัคซีนแล้ว มีความพร้อมและการวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุด หลังจากที่ขณะนี้มีความล่าช้า

โดยหอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน พร้อมจะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด โดยห้างสรรพสินค้า ทุกแห่ง พร้อมที่จะจัดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งทำให้การกระจายวัคซีนรวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ หอการค้ายังเสนอให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม โดยร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งประเมินว่ายังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ

ข้อที่ 2 มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ  

ทั้งนี้ สำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจภาคเอกชน ยืนยันว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือภาระการใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน  และสำหรับโควิดระลอก 3 นี้ การแจกเงินตรงๆ แบบโครงการเราไม่ทิ้งกัน ในช่วงโควิด-19 หรือโครงการเราชนะ และม. 33 เรารักกัน ที่ช่วยเหลือตอนโควิดรอบสอง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

โดยต้องเน้นช่วยผู้มีรายได้น้อย รับจ้างขายของรายวัน รวมทั้งแรงงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก เพราะวิกฤตโควิดนี้เป็นวิกฤตคนจน ไม่ใช่วิกฤตคนรวย ผู้ที่ทำงานราชการ หรือเอกชน ได้รับผลกระทบเช่นกันแต่อาจจะน้อยกว่า  ขณะที่กลุ่มที่มีอาชีพขายของ อาชีพบริการต่างๆ ขาดรายได้ทันที

3.ดูแลธุรกิจปิดกิจการ -คนตกงานที่เพิ่่มสูงขึ้น

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยืนยันว่า รัฐบาลจะต้องระวังเรื่องตลาดแรงงานให้ดี เพราะภาคเอกชนเห็นว่าไม่ปกติ โดยเอกสารการจ้างงานของกระทรวงแรงงานในเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ระบุว่าการจ้างงานหดตัว เฉลี่ย 5% ทุกประเภทการจ้างงาน แสดงว่าตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบาง ขณะเดียวกันแรงงานในประกันสังคม ตามมาตรา 33 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วมีแรงงานหายไปเกือบ 6 แสนคน

ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการเพื่อที่ช่วยธุรกิจที่ยังรักษาแรงงานไว้ไม่ให้ปลดคนงานเพิ่มเติม เช่น การช่วยค่าแรงคนละครึ่ง หรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อช่วยรักษาแรงงานต่อไป และธุรกิจไม่ต้องปิดกิจการ ขณะเดียวกัน จะต้องมีโครงการเพื่อช่วยเหลือโดยตรงให้กับ “คนว่างงาน” และ “ผู้เสมือนคนว่างงาน” (ทำงานไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพื่อให้ดำรงชีพได้ในขณะนี้ และสามารถกลับสู๋ตลาดแรงงานในอนาคต

ข้อที่ 4.พักชำระหนี้

ในขณะนี้ได้มีข้อเรียกร้องจากธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวนหนึ่ง รวมถึงประชาชนรายย่อย ที่ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายของประชาชนน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่สถานการณ์โควิดระลอกที่ 2 ซ้ำเติมด้วยโควิดรอบที่ 3 ทำให้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น และอาจจะไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามที่ตกลงได้ 

โดยมีข้อเสนอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้ต่อไปเป็นเวลา 6 เดือน หรือตามที่ตกลงกัน

ข้อที่ 5 ช่วยส่วนลด หรือยกเว้นค่าสาธารณูปโภค

สำหรับมาตรการข้อสุดท้ายนี้ เป็นมาตรการที่รัฐบาลเคยใช้มาแล้ว ในช่วงโควิดรอบที่ 1 และรอบที่ 2 ทั้งการปรับลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ทั้งในส่วนของบ้านที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมทั้งสถานประกอบธุรกิจเอกชน โรงงาน ซึ่งเอกชนต้องการให้รัฐขยายเวลาการช่วยเหลือออกไปอีกระยะหนึ่ง

#Thejournalistclub #โควิด19#เศรษฐกิจคิดง่ายๆ