รพ.สงขลานครินทร์ โชว์ความสำเร็จ นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ในวงการแพทย์

  • ช่วยรักษาผู้ป่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
  • ชูจุดเด่นด้านความแม่นยำในการผ่าตัด
  • ทำให้ผู้ป่วยมีบาดแผลผ่าตัดเล็กและใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง

รศ.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า หลังจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นำนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคใต้ที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้มาช่วยการผ่าตัดรักษาผู้ป่วย โดยนับตั้งแต่วันแรกนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ทำให้ทีมแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้ถึง 190 ราย ถือเป็นการผ่าตัดที่มีจำนวนมากเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน เนื่องจากการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์สามารถรองรับการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยได้หลายโรค ได้แก่ การผ่าตัดช่องท้อง การผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น การผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดทางเดินปัสสาวะต่อมลูกหมาก การผ่าตัดด้านนรีเวช การผ่าตัดผู้ป่วยโรคอ้วน รวมถึงการผ่าตัดอื่นๆ ที่พิจารณาโดยแพทย์

 ทั้งนี้ ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ ทำให้ใช้ผู้ช่วยผ่าตัดน้อยลงและมีความนิ่ง เพราะมือที่ผ่าตัดเป็นมือหุ่นยนต์ที่บังคับโดยหมอผ่าตัดที่มีความเที่ยงตรง แม่นยำ และการผ่าตัดหรือการเย็บแผลสามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะแขนของหุ่นยนต์จะมีความนิ่ง และด้วยข้อดีดังกล่าวทำให้แพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ นำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยต่อมลูกหมาก เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ในพื้นที่ลึกและแคบ มือของศัลยแพทย์เข้าไปได้ลำบาก การมองเห็นไม่ชัดเจน แต่หลังจากที่นำหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้ามาช่วยปรากฏว่าได้ผลการผ่าตัดดีมาก หลังจากนั้นศัลยแพทย์จึงนำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มขึ้นอีกหลายสาขา

ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดจะมีบาดแผลผ่าตัดเล็กลง เจ็บน้อย เลือดออกค่อนข้างน้อย ทำให้ใช้เลือดในการผ่าตัดน้อย ระยะพักฟื้นหรือนอนโรงพยาบาลน้อยลง สามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานได้เร็วขึ้น ที่สำคัญผู้ป่วยที่สูงอายุสามารถผ่าตัดได้ และลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดแบบเปิด

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ยังใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดให้กับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสิทธิภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป