รถส่วนบุคคลสะดุ้งหลัง”ศักดิ์สยาม” บี้ให้ติดตั้งจีพีเอสทุกคัน

“ศักดิ์สยาม” ผุดมาตรการตัดแต้ม-ให้รางวัลนำจับรถทำผิดกฎหมาย พร้อมตรวจการบ้านเร่งแก้กฎระเบียบเรียกรถส่วนบุคคลผ่านแอพพลิเคชั่น คาดบังคับใช้ได้ไม่เกินเดือน มีนาคม63นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)วันนี้(21 ต.ค.) ว่าได้มอบให้ขบ.ไปศึกษาการกำหนดให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (จีพีเอส) เพิ่มเติม นอกเหนือไปจากรถสาธารณะ4 ประเภทที่ถูกบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ รับจ้าง ,รถบรรทุก , รถตู้โดยสาร และโดยสารขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อเร่งลดอุบัติเหตุ เนื่องจากสามารถควบคุมความเร็วรถและตรวจสอบข้อมูลการขับขี่ได้ รวมทั้งการตั้งด่านสกัดจับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ทั้งนี้จะต่อยอดให้รถส่วนบุคคลติดตั้ง จีพีเอสด้วย โดยให้ขบ. ศึกษา แต่ราคาอุปกรณ์จีพีเอส และค่าบริการรายเดือนจะต้องไม่แพง จะเริ่มจากรถใหม่ก่อน โดยในเดือนนี้ปลัดกระทรวงคมนาคม และอธิบดีกรมการขนส่งจะไปหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดูราคาจีพีเอสเพราะขณะนี้ทราบว่าราคาลดลงแล้วจากเดิมกว่าหมื่นบาท ค่าบริการจีพีเอสรายเดือน 500-700 บาท ปัจจุบันอุปกรณ์ก็ลดลงเหลือ 3,000 และค่าบริการรายเดือนเหลือ 300 บาท ส่วนรถเก่าก็จะมีมาตราการค่อยๆบังคับใช้ต่อไป


“หากเราติดจีพีเอสกับรถได้ครบทุกประเภท เราจะกำกับดูแลการใช้รถใช้ถนนได้หมด ประเทศไทยจะเป็นประเทศในแรกที่ทำแบบนี้ ไม่มีอะไรเป็นของฟรีในโลก แต่เรากำลังช่างน้ำหนักว่า สิ่งที่จะนำมาใช้จะเกิดประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้ขอหารือกระทรวงอุตก่อนในเดือนนี้ หากจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้คงต้องใช้เวลาอีก6เดือน หรือถ้าเป็นกฎหมายต้องใช้เวลาเป็นปี แต่เราต้องกล้านับ1 คาดว่าภายใน 1ปี จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องนี้”

นายศักดิ์สยาม ต่อข้อซักถามผู้สื่อข่าวที่ว่า การจะบังคับให้รถส่วนบุคคลติดตั้งจีพีเอสติดตามการเดินทางของรถเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลหรือไม่นั้น ในเรื่องดังกล่าวทางส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดูกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ์ส่วนบุคคลฉบับอื่นๆ ประกอบด้วย แต่ต้องดูว่าผลที่ได้รับจากการติดจีพีเอสคืออะไร ซึ่งจะเห็นว่าประโยชน์มีมาก อย่างน้อยการก่ออาชญากรรม จะลดลง เช่น การขโมยรถ การกำกับความเร็วรถจากจีพีเอสก็ช่วยรถลดปัญหาอุบัติเหตุได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่บางเรื่องยอมรับว่าอาจจะกระทบสิทธิ์ประชาชน แต่ถ้าไม่เกิดความเสียหายมากนัด และเกิดประโยชน์ลดอุบัติเหตุและลดความเสียหายได้ บางครั้งก็คงต้องยอม

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้มอบหมายให้ ขบ.ไปศึกษาระเบียบกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบรถที่ทำผิดกฎหมายด้วย โดยหากสามารถแจ้งเบาะแสจนนำตัวผู้กระทำความผิดกฎจราจรมาลงโทษตามกฎหมายจะได้รับแบ่งสินบนนำจับให้ด้วย เช่น การถ่ายภาพ รูป หรือเหตุการณ์ เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุ และจะทำให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ขบ.มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้วซึ่งจะต้องให้ไปพิจารณารายละเอียดว่า จะจัดแบ่งค่าสินบนนำจับให้ประชาชนในสัดส่วนเท่าไหร่ คาดว่าภายใน1 เดือนจะบังคับใช้มาตรการสินบนนำจับได้

นอกจากนี้ ยังกำชับให้ ขบ.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับรถทุกประเภททั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ เพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำซากโดยจะนำมาตรการตัดแต้มคน และรถมาบังคับใช้ ทั้งนี้ ในส่วนของคนจะเข้มงวดการเรื่องการออกใบขับขี่ ให้มากขึ้น โดยหากพบว่าในเวลาต่อมาผู้ขับขี่มีการกระทำผิดตามกฎหมายจะถูกตัดคะแนนจากเดิมได้เต็ม100 คะแนน และหากถูกตัดจน100 คะแนนที่มี ขบ.จะยึดคืนใบขับขี่ทันที ส่วนมาตรการเกี่ยวกับรถจะมีการตัดคะแนนรถเช่นกัน โดยรถใหม่ที่ผ่านการตรวจสภาพจะได้100 คะแนนเต็ม หากครั้งงต่อมาตรวจสภาพไม่ผ่านจะถูกตัดคะแนน และหากถูกตัดจนครบ100 คะแนนจะถูกพักใช้รถทันที

ซึ่งมาตรการตัดแต้มครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการภายใต้ภายในพ.ร.บ.พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 เป็นคนละส่วนกันกับมาตรการตัดแต้มของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษา 2เดือน นอกจากนี้ ได้มอบให้ ขบ.ไปศึกษาการกำหนดให้รถบรรทุกต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบน้ำหนักบรรทุกที่ติดตั้งที่ตัวรถด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาบรรทุกเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด เพราะการนำตราชั่งไปไล่ตรวจไม่สามารถจับกุมได้หมด

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อถึงมาตรการแก้ไขปัญหาแท็กซี่ป้ายดำ หรือ แกรปว่า ได้เร่งรัดให้ ขบ. มีการต่อยอดนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับบริการรถสาธารณะ โดยขณะนี้ ขบ .อยู่ระหว่างร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างผ่านแอพพอเคชั่น พ.ศ… และร่างกฎกระทรวงกำหนดการขอรับใบอนุญาติ และการต่ออายุใบประกอบการรถยนต์ส่วนบุคคลรับจ้างผ่านแอพพลิเคชั่น พ.ศ ขณะนี้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วคาดว่าจะเสนอให้รมว.คมนาคมลงนามและประกาศบังคับใช้ได้ในเดือนมี.ค.63

ส่วนผลการดำเนินงานมาตรการเช็ตพ้อยท์ ขณะนี้พบปัญหาเรื่องบบุคคลากร งบประมาณ      และอุปกรณ์ เช่นเครื่องตรวจอแลกอฮฮล์  มีไม่เพียงพอ   ซึ่งก็ขอให้แต่ละจังหวัดทำเรื่องขอรับการสนับสนุนมายังส่วนกลาง ส่วนผลการดำเนินงานพบว่าทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุปรับลดลง ลง จาก1% กว่า เหลือ 0.4%