รถร่วมโดยสาร บขส. ไม่ไหวทนบุกขนส่งทางบก จี้!ขอปรับราคาค่าโดยสารหลังแบกต้นทุนหลังแอ่น

ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางไม่ไหวทน! เข้าพบ  อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ขอให้ใช้ประกาศโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันดีเซล  ที่เคยใช้พิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าโดยสารตามประกาศเมื่อปี 55 มาคำนวณค่าโดยสารตามจริง  เพื่อลดความเดือดร้อนผู้ประกอบการ  ซึ่งจากฐานราคาน้ำมันดีเซล ขณะนี้ ต้องปรับราคาอีก 10-15 สตางค์/ กม. 

นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย พร้อมด้วยผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)ว่า จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.)ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นทางผู้ประกอบการจึงได้เข้ามายื่นข้อเสนอให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาทบทวน การนำประกาศกรมการขนส่งทางบกตามมติคณะกรรมการกรมการขนส่งทางบกกลางเมื่อปี 2555 ที่ประกาศใช้โครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันดีเซล เพื่อใช้พิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าโดยสาร โดยกำหนดว่าหากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นถึง 1.12 บาท/ลิตร จะมีการปรับค่าโดยสารขึ้น 1 สตางค์/กิโลเมตร

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารที่กรมการขนส่งทางบกประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน(ประกาศตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.62) คือ 53 สตางค์/กิโลเมตร/คน ซึ่งราคาน้ำมันดีเซล ณ วันที่ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ลิตรละ 27.79 บาท ขณะที่ ณ วันนี้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 31.94 บาท ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเเตะถึง40 บาท/ลิตรในไม่ช้านี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง แบกรับภาระต้นทุนที่สูงเกินจริงมาอย่างต่อเนื่องจึงขอเพียงให้ใช้ประกาศโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลดังกล่าวก่อนผู้ประกอบการจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เนื่องจากไม่ได้มีการนำประกาศดังกล่าวมาใช้ในโครงสร้างค่าโดยสารอย่างจริงจัง 

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ขนส่งทางบกยังเคยว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาถึงต้นทุนในการประกอบการขนส่งที่แท้จริง โดยกำหนดว่าจะมีการนำผลการศึกษาดังกล่าวมาปรับ อัตราค่าโดยสารเพื่อยกระดับให้บริการขนส่งสาธารณะด้วยรถโดยสารประจำทางเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการ และสามารถพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นต่อไปซึ่งบทสรุปจากการศึกษา ระบุว่า หากต้องการให้บริการรถโดยสารสาธารณะมีคุณภาพและมาตรฐานดังความคาดหวังของภาครัฐต้องมีการปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 30-45% แยกตามหมวดการเดินรถ ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ยังไม่เคยนำผลการศึกษาดังกล่าวมาพิจารณา 

นายพิเชษฐ์ ยังกล่าวต่อไปว่า หากรัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือใดๆคาดว่าราคาน้ำมันดีเซลอาจจะพุ่งทะยานไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับโครงสร้างขั้นบรรไดของอัตราค่าโดยสารที่กรมการขนส่งประกาศไว้ เมื่อน้ำมันดีเซลปรับขึ้นลิตรละ 1.12 บาท จะต้องปรับอัตรค่าโดยสาร ขึ้น 1 สตางค์/กิโลเมตร นั่นหมายความว่ากรมการขนส่งทางบกโดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ต้องพิจารณาใช้ตารางอัตราค่าโดยสารขึ้นอีกประมาณ 10-15 สตางค์/กิโลเมตร 

อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการมายื่นข้อเสนอครั้งนี้ ยืนยันไม่ใช่การเรียกร้องให้มีการปรับค่าโดยสารแต่อย่างใดเพียงขอให้กรมการขนส่งทางบก ใช้อัตราค่าโดยสารตามโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลตามที่เคยประกาศไว้เท่านั้น โดยให้ข้อมูลด้วยว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 15 ปี เทียบเคียงอัตราค่าโดยสารค่าโดยสารโดยรวมแล้วกลับลดลง 1 สตางค์/กิโลเมตร ทั้งๆที่องค์ประกอบต่างๆของต้นทุนในการเดินรถมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอดมา