ย้อยรอย…วิกฤตการณ์น้ำมันโลก

เชื่อว่า วันนี้หลายคนคงกำลัง “ปวดใจ” กับราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งใครเติมน้ำมันในกลุ่มเบนซิน หรือแก๊สโซฮอลล์ เพราะราคาเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว 

ขณะที่คนที่ใช้น้ำมันดีเซลนั้น รัฐบาลได้ประกาศแล้วว่า จะสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้เท่านั้น หากสถานการณ์ราคายังไม่ดีขึ้น จะเริ่มลดการอุดหนุนราคาลง และปล่อยให้สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ การปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันโลกในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการน้ำม้นที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลก หลังจากเริ่มปรับตัว และอยู่กับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น แต่ “ตัวร้าย” จริงๆ ของ “วิกฤตน้ำมันแพง” ในครั้งนี้ก็คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครนและโลตะวันตก รวมไปถึงการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆของโลกตะวันตกเพื่อคว่ำบาตรรัสเซีย

โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟมองว่า ผลกระทบจากราคาน้ำมันโลก สงครามและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะกระทบแรงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป และเอเชีย

และหากเราย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ในโลก “วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันโลก” ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และมีผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีจากความขัดแย้งทางการเมือง และการก่อสงครามแทบทั้งสิ้น

โดยเท่าที่มีการรวบรวมไว้ “วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันโลก” หรือ Oil Shock ครั้งแรก เกิดขึ้นในช่วงปี 2514-2516 ซึ่งขณะนั้น เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีความต้องการน้ำมันมากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยที่ซ้ำเติมคือ ข้อพิพาทระหว่างอิสราเอล และประเทศในกลุ่มอาหรับในเรื่องพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกถือหางหนุนอิสราเอล ส่งผลให้ประเทศอาหรับใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง 

โดยกลุ่มประเทศอาหรับเลือกที่จะขายน้ำมันให้กลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกับตนเองในราคาปกติ ขณะที่ประเทศเป็นกลางจะถูกจำกัดปริมาณน้ำมันให้น้อยลง และขายในราคาที่แพงขึ้น ส่วนประเทศที่เป็นปฏิปักษ์โอเปคจะงดการขายน้ำมันให้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น 3 เท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นให้ชะลอตัวลงแรง ก่อให้เกิดความซบเซาต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ขณะที่ Oil Shock ครั้งที่ 2 นั้น เกิดในช่วงปี 2520-2523  จากปัญหาการเมืองภายในอิหร่าน โดยผู้นำศาสนา “อยาตอลเลาะห์ โคไมนี “ได้ทำการล้มล้างราชวงศ์ของกษัตริย์ มูฮัมหมัด เรซา ปาฮ์เลวี และนำอิหร่านเข้าสู่การเป็นรัฐศาสนาอิสลามเต็มรูปแบบ ความวุ่นวายในประเทศ ทำให้อิหร่าน ซึ่งส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ  2 ของโลกในขณะนั้นลดการส่งออกน้ำมันลง ขณะที่กลุ่มโอเปคประกาศให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 15 %

วิกฤตน้ำมันดังกล่าว ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจาก “สงครามระหว่างอิรัก กับ อิหร่าน” หรือที่เรียกว่าสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf War) ในปี 2523 ซึ่งมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งของพื้นที่ และศาสนา ยิ่งทำให้การผลิตน้ำมันในตลาดโลกลดลง ผลของการผลิตน้ำมันที่ลดลง แม้ความต้องการใช้ในตลาดโลกยังเท่าเดิม

มาถึง Oil Shock ครั้งที่ 3 ซึ่งเกิดจากสงครามเช่นกัน นั่นก็คือ สงครามอ่าว ครั้งที่ 1  หรือปฎิบัติการที่มีชื่อรหัสทางทหารว่า ปฏิบัติการโล่ทะเลทราย (Operation Desert Shield) ในปี 2533-2534 ซึ่งเป็นสงครามในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียระหว่างกำลังผสมจาก 34 ชาติ นำโดยสหรัฐอเมริกา กับประเทศอิรัก หลังการบุกยึดคูเวตของกองกำลังอิรักซึ่งผลกระทบจากปฎิบัติการดังกล่าว ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง จากปริมาณน้ำมันดิบที่ลดลงมากและการขนส่งผ่านอ่าวเปอร์เซียที่ดำเนินการไม่ได้

และแน่นอนว่า Oil Shock ครั้งที่ 4 ในปี 2546-2547 มาจากอะไรไม่ได้ นอกจากสงคราม โดยครั้งนี้เกิดขึ้นจาก“สงครามอิรัก” หรือสงครามอ่าว ครั้งที่ 2 โดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และสหราชอาณาจักร โดยนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ตัดสินใจเปิดปฎิบัติพายุทะเลทราย รุกราน ล้มล้างประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนและบุกยึดครองประเทศอิรัก 

โดยข้ออ้างว่าอิรัก มีอาวุธทำลายร้ายแรง ซึ่งเป็นภัยต่อประชาคมโลก ซึ่งในที่สุด แม้ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ผลของสงครามครั้งนี้ ได้ทำลายเศรษฐกิจทั่วโลกยับเยินจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ในปี 2551 สถานการณ์ด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง และทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นสถิติที่ยังไม่เคยถูกทำลายถึงปัจจุบัน โดยเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในเหตุการณ์พัฒนานิวเคลียร์ โดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร และเนื่องจากอิหร่าน เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกค่อนข้างมากจากการห้ามส่งออกน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกในช่วงนั้นสูงขึ้นได้ไม่นาน ราคาน้ำมันดิบโลกก็ลดลง จากการเกิด “วิกฤตซับไพร์ม” หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว  แต่หลังจากนั้น 3 ปีในช่วงปี 2554 ราคาน้ำมันดิบโลกได้ไต่ระดับขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ก่อนที่จะทรุดตัวลงแรงอีกครั้งจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันวันนี้ หลายคนมองว่า หากสถานการณ์สงครามยูเครนยืดเยื้อ หรือลุกลามเพิ่มขึ้นอาจจะกลายเป็น Oil Shock ครั้งที่ 5 ของโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวโดยล่าสุดจากการใช้เงินกองทุนน้ำมัน ตรึงราคาน้ำมันดีเซลมาต่อเนื่อง และการออก 10 มาตรการช่วยเหลือลดผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงของรัฐบาลไม่กี่วันที่ผ่านมา 

รัฐบาลคาดหวังว่า จะสามารถประคองให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 3%ได้ จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถโตได้ในระดับ 3.5-4%