ยุคนี้ภัยรอบตัว… สายช้อปออนไลน์ ต้องอ่าน! ตร.พบเครื่องสำอาง 18 ยี่ห้อดังเคาน์เตอร์แบรนด์ปลอมเกลื่อนโซเชียล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 มี.ค.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ,กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีทลายแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอางปลอมเคาน์เตอร์แบรนด์ดังหลายยี่ห้อ ซึ่งพบของกลางจำนวนมาก โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งสามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอม 18 ยี่ห้อดัง มูลค่ารวมกว่า 70,000,000 บาท

ทั้งนี้ จากการได้รับแจ้งจากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าดังกล่างมาใช้ แล้วพบว่า ไม่เป็นไปตามโฆษณาที่อวดอ้าง จึงสืบสวนจนทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าผิดกฎหมายดังกล่าว พบบ้านเช่าที่มีชาวเวียดนามเช่าเป็นแหล่งเก็บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมและด้อยคุณภาพจำนวนมาก อาทิ SK-II ,Estee Lauder ,Origins ,ครีมกันแดด Anessa , VICHY , KIEHL’S , CLARINS , BIODERMA เป็นต้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าว มีการนำมาโฆษณาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในราคาที่ถูกมากกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 มี.ค.65 กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ อย. นำหมายค้นของศาลอาญาพระโขนง เข้าค้นสถานที่เก็บสินค้า ในพื้นที่แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยพบหญิงชาวเวียดนามแสดงตนเป็นผู้ดูแลบ้านหลังดังกล่าว

ทั้งนี้จากการตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว ใช้เป็นสถานที่เก็บ และแพ็คบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางส่งให้กับลูกค้า จากนั้นตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ต้องสงสัยว่าปลอมเคาน์เตอร์แบรนด์ดังรวมกว่า 18 ยี่ห้อดัง มูลค่ากว่า70,000,000 บาท เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี 

โดยเบื้องต้นแจ้งการกระทำความผิดพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ฐาน“จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมปลอม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการจับเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมเครื่องหมายการค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ดังหลายยี่ห้อ และหากบริษัทยืนยันแล้วว่าปลอมเครื่องหมายการค้าจริง จึงจัดเป็นเครื่องสำอางปลอม

“ขอย้ำเตือนผู้บริโภคอีกครั้ง ให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการกล่าวอ้างว่าราคาถูกเกินกว่าปกติ, สินค้า Pre Order,  ซื้อตัดล็อตของแท้จากต่างประเทศ 100% หรือ ซื้อ 1 แถม 1 หลากหลายวิธีการชวนเชื่อ ขอให้ผู้บริโภคระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ได้

ฉะนั้น ก่อนกดคำสั่งซื้อทุกครั้งขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบให้ดีเสียก่อน และก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง” นพ.วิทิต กล่าว

ทั้งนี้หากพบแหล่งผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ [email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ทาง พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ได้ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออนไลน์ เพียงเพราะเห็นแก่ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาดและหลงเชื่อการโฆษณา  และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส และทางสื่อออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุดทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

ที่มา : คณะกรรมการอาหารและยา