ยังไร้ความชัดเจนลดภาษี 10% “สรรพากร” ชี้มีผลกระทบรายได้รัฐ-เสถียรภาพการคลัง

  • กรมสรรพากร” ชี้ลดภาษี 10% กระทบรายได้ในคลัง 
  • ดัน “อุตตม” เร่งคลอดกฎหมาย E-Business
  • จับมือ ตลท.เลิกใช้อากรแสตมป์แบบกระดาษ 5 ประเภท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึง การดำเนินนโยบายหาเสียงลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% ของพรรคพลังประชารัฐ  ว่า กรมสรรพากรได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สสค.ศึกษาแผนการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ โดยแนวทางการปรับลดภาษีมี 2 แนวทาง คือ หัก 10% จากอัตราการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาจากปกติที่เก็บในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่  5-35% โดยตรง เช่น ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีในอัตรา 35% ลด 10% ก็จะเหลือ 25% หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ ลด 10% ของอัตราเดิม เช่น ผู้ที่ต้องจ่าย 35 % ได้ลด 10% ของ 35 คือได้ลด 3.5%  แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป   

“หากลดภาษีจริงจะกระทบรายได้ของกรมฯและอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง เนื่องจากปัจจุบันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ถึง 400,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่นโยบายหาเสียง ลดภาษีแม่ค้าออนไลน์ 2 ปีนั้น กำลังศึกษาเพราะการยกเว้นภาษีต้องสร้างความเป็นธรรมให้แม่ค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์”

ขณะเดียวกัน  จะเสนอให้นายอุตตม สาวนายน  รมว.คลัง เร่งผลักดันกฎหมายการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Business)  ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา  ซึ่งจะ สร้างความเท่าเทียมทั้งคนไทยที่ให้บริการต่างประเทศ และคนต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการในไทย โดยขณะนี้มีหลายประเทศใช้กฎหมาย E-Business แล้ว อาทิ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เป็นต้น ส่วนกรณีการแก้ไขกฎหมาย เก็บภาษีดอกเบี้ยจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ให้เท่ากับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงนั้น จะรอดูภาพรวมว่าจะกระทบต่อการระดมทุนหรือไม่และรอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญก่อน 

นอกจากนี้ยังกรมฯ ยังร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผลักดันการทำตราสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ โดยเพิ่มการให้บริการชำระอากรแสตมป์ทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 ตราสาร ได้แก่ 1.จ้างทำของ 2. กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร3. ใบมอบอำนาจ4.ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท และ 5.ค้ำประกัน โดยทั้ง 5 ประเภท คิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของอากรแสตมป์ทั้งหมด  28 ประเภท 

ทั้งนี้สารอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 5 ประเภท สามารถยื่นขอชำระอากรได้ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และทาง Application Programming Interface (API) ผู้เสียอากรสามารถยื่นขอชำระอากรด้วยตนเองหรือผ่านผู้ให้บริการ (Service Provider) ให้เป็นผู้ชำระอากรแทนก็ได้ โดยเปิดให้บริการชำระอากรแสตมป์ทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วันที่1 ก.ค.2562  เป็นต้นไป

“การชำระอากรผ่านทางอิเล้กทรอนิกส์ สามารถลดขั้นตอนการจัดทำเอกสารด้วยกระดาษ ลดปัญหาการคำนวณมูลค่าอากรแสตมป์ผิดพลาด และลดต้นทุนการทำธุรกรรมเหลือ 1 บาทต่อการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง จากเดิมต้องเสียค่าปริ้นเอกสารและเสียค่าเดินทางไปยังที่หมาย โดยกรมฯ จะเปิดให้บริการอากรแสตมป์ทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 28 ประเภทในปี 2563”

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับตลาดทุนยุคดิจิทัล โดยบริษัท ฟินเน็ต อินโนเวชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้บริการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นรายแรก  โดยฟินเน็ตจะเชื่อมต่อกับกรมสรรพากร และเริ่มเปิดให้บริการสำหรับธุรกรรม 3 ประเภท ได้แก่ 1.การมอบฉันทะเข้าประชุมผู้ถือหุ้น 2.การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และ 3.การกู้ยืมเงินเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ และจะขยายไปยังธุรกรรมทุกประเภทในปี 2563