ยังกังวล! กรมอนามัย เผยผลอนามัยโพล จากกรณีที่ซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดปราจีนบุรี

  • ประชาชน ร้อยละ 75.5 มีความกังวลต่อการแพร่กระจาย
  • ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอาหารและน้ำบริเวณใกล้เคียง
  • เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีข่าวสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายจากบริษัทผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดปราจีนบุรี และถูกนำเข้าเตาหลอมเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กและพบว่ามีการขนส่งเถ้าโลหะที่มีการปนเปื้อนสารดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้มีความวิตก และความกังวลใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ นั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพพร้อมด้วยศูนย์อนามัยที่ 6 จังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ในการเตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการฉุกเฉินรับมือกรณีเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งนี้ยังได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำบริเวณโดยรอบชุมชน โกดัง และที่เก็บฝุ่นเหล็กดังกล่าว ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรอาทิ ปลาทะเลสด ผักและผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่ น้ำประปาที่ใช้ในครัวเรือน น้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และน้ำบ่อตื้นที่ใช้การรดผักและผลไม้ พร้อมทั้งจัดส่งตัวอย่างดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อให้ทราบผลการตรวจวิเคราะห์และสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านทางอนามัยโพล ตั้งแต่วันที่ 23-24 มีนาคม 2566 จำนวน 379 คน พบว่า ประชาชนได้ทราบข่าวและรู้สึกกังวลมากถึงร้อยละ 75.5 ในขณะที่ร้อยละ 23.5 ทราบข่าวแต่ไม่รู้สึกกังวลหรือไม่สนใจข่าวนี้ และร้อยละ 1.0 ไม่ทราบข่าว สำหรับเหตุผลที่ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับซีเซียม-137 ที่พบมากที่สุด คือ การแพร่กระจายและตกค้างในสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 93.7 รองลงมา คือ กังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ร้อยละ 89.8 และไม่มั่นใจในการดูแลจัดการของโรงงานกลัวเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ร้อยละ 62.9 นอกจากนี้ ประชาชนต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว ร้อยละ 80.2 ข้อมูลด้านความปลอดภัยของอาหาร ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม ร้อยละ 77.0 วิธีลดและป้องกันการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและการเข้าสู่ร่างกาย ร้อยละ 73.6 สำหรับสิ่งที่ประชาชนต้องการให้หน่วยงานสาธารณสุขดำเนินการมากที่สุด คือ การเฝ้าระวังตรวจการตกค้างในอาหารและน้ำ ร้อยละ 80.2 การตรวจสุขภาพกรณีที่รู้สึกมีอาการผิดปกติ ร้อยละ 78.6 และการสื่อสารและให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ร้อยละ 77.3