ยอดใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพีส่งออกสินค้าไทยพุ่ง

  • 2 เดือนแรกกว่าหมื่นล้านเหรียญฯ เพิ่ม 5.77%
  • รับอานิสงส์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้น
  • มูลค่าใช้สิทธิส่งออกไปจีน-สหรัฐฯนำโด่ง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกสินค้าไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ..) ปี 64 ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิรวมกัน 10,504.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.77% จากช่วงเดียวกันของปี 63 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 69.76% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ แบ่งเป็นมูลค่าใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ 9,948.70 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4.86% และมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้จีเอสพี 555.80 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 25.30%

สำหรับการใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอนั้น ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก  ได้แก่  อาเซียน  3,607.55 ล้านเหรียญฯ , จีน 2,868.49 ล้านเหรียญฯ, ออสเตรเลีย 1,222.96 ล้านเหรียญฯ, ญี่ปุ่น 1,013.45 ล้านเหรียญฯ และอินเดีย 718.76 ล้านเหรียญฯ 

“ภาพรวมการใช้สิทธิ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งภายใต้เอฟทีเอ และจีเอสพี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิเอฟทีเอสูง เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด อาหารปรุงแต่ง น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส เครื่องดื่มประเภทนมที่ไม่เติมแก๊ส เครื่องซักผ้า  ถุงมือใช้ทางศัลยกรรม  เครื่องปรับอากาศติดผนัง เป็นต้น”

ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพี ทั้ง 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ นั้น ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิมากที่สุดคือ สหรัฐฯ มูลค่า 493.29 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 35.14% ตามด้วย สวิตเซอร์แลนด์ 37.80 ล้านเหรียญฯ ลดลง 23.16%, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช 19.79 ล้านเหรียญฯ ลดลง 20.18% และนอร์เวย์ 4.93 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 7.41% สำหรับสินค้าส่งออกที่ใช้สิทธิสูง เช่น ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ผลไม้ปรุงแต่ง ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมที่ใช้ในการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น