ยอดใช้สิทธิเอฟทีเอช่วง 7 เดือนปีนี้ลดฮวบ

  • แต่ใช้สิทธิภายใต้จีเอสพีสวนทางเพิ่ม 2.61%
  • แม้มีโควิดแต่อาหาร เครื่องด่ืม เกษตรแปรรูปยังส่งออกดี
  • ทั้งผลไม้สด อาหารปรุงแต่ง กุ้ง ปลา ข้าวโพดหวาน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในเดือนม.ค.-ก.ค.63 ว่า มูลค่าการใช้สิทธิรวมเท่ากับ 35,421.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.77% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.94% แบ่งเป็นเอฟทีเอ 32,875.25 ล้านเหรียญฯ ลด 15.88% และจีเอสพี 2,546.60 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2.61%

“แม้ภาพรวมการใช้สิทธลดลง แต่สินค้าบางรายการของไทยยังส่งออกได้ต่อเนื่อง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป แม้มีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม ผลไม้สดต่างๆ ทั้งทุเรียน มังคุด มะม่วง อาหารปรุงแต่ง น้ำผลไม้ ปลาทูน่าปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกล็ดธัญพืช เต้าหู้ปรุงแต่ง ซอสปรุงแต่ง กุ้ง ข้าวโพดหวาน ปลาสคิปแจ็ก เป็นต้น”

สำหรับการใช้สิทธิเอฟทีเอนั้น ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 11,152.89 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 3.84%, อาเซียน 10,798.63 ล้านเหรียญฯ ลดลงถึง 24.02%, ญี่ปุ่น 3,890.21 ล้านเหรียญฯ ลดลงเกือบ 15%, ออสเตรเลีย 3,426.95 ล้านเหรียญฯ ลดลงกว่า 20% และอินเดีย 1,784.67 ล้านเหรียญฯ ลดลงว่า 30%

ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพี 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ นั้น ตลาดที่มีมูลค่าใช้สิทธิมากที่สุดคือ สหรัฐฯ 2,243.21 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 0.49% โดยมูลค่าใช้สิทธิดังกล่าว คำนวณจากสินค้าที่ได้รับสิทธิ 2,672 รายการ ไม่รวมสินค้า 573 รายการ ที่ถูกตัดสิทธิ ไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.63 ส่วนอันดับ 2 คือ สวิตเซอร์แลนด์ 200.24 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 29.17% ตามด้วยรัสเซียและเครือรัฐเอกราช 84.64 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4.92% และนอร์เวย์ 18.51 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 34.72%