ม.หอการค้าไทยชี้ภาคธุรกิจซมพิษต้นทุนพุ่ง

  • ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน ค่าไฟ ค่าแรง ดอกเบี้ย เงินเฟ้อสูง
  • กังวลตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง นโนบายหาเสียงกระทบต้นทุน
  • แต่หวังธุรกิจดีขึ้นใน 6 เดือนรับเงินเลือกตั้งสะพัด 1.2 แสนล้าน

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย ว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ถึง 59.5% ระบุว่า สถานะทางธุรกิจยังเหมือนปี 65 มี 24.5% แย่ลง และอีก 16% ดีขึ้น โดยมียอดขาย/รายได้, กำไร, สภาพคล่องทางธุรกิจ และการลงทุนไม่มากนัก เพราะต้นทุนการผลิตยังสูง จากราคาวัตถุดิบ พลังงาน ค่าไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย ค่าแรง รวมถึงเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

“ธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากดอกเบี้ยขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำที่เฉลี่ยวันละ 328-354 บาท ค่าไฟฟ้าที่ยังเกินหน่วยละ 5 บาท น้ำมันดีเซลที่เกินลิตรละ 35 บาท แม้ได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวกลับมา และโควิดคลี่คลาย แต่ยังมีกำไรน้อย ประกอบกับ หลังเลือกตั้งเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่นอน และเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย หากต้นทุนยังคงขึ้นต่อเนื่อง อาจต้องลดแรงงาน ขึ้นราคาสินค้า ผิดนัดชำระหนี้ ชะลอลงทุน”

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ 41.2% บอกสถานะทางธุรกิจจะดีขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ จากโควิดคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา ทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจเริ่มฟื้นตัว, การท่องเที่ยวกลับมา, ภาคเกษตรดีขึ้น ทำให้การบริโภคแต่ละจังหวัดดีขึ้น และเลือกตั้งทำให้มีเงินสะพัดมากขึ้น ส่วนผลกระทบกรณีธนาคารของสหรัฐฯล้มนั้น ส่วนใหญ่ 73.5% บอกกระทบน้อย

ขณะที่ผลกระทบจากการเมือง และการเลือกตั้งใหม่ ส่วนใหญ่ถึง 40.1% ได้รับผลกระทบทางบวก เพราะเงินสะพัดสูง ทำให้ยอดขายเพิ่ม และเกิดความเชื่อมั่นด้านการเมืองในระดับนานาชาติ ส่วนอีก 11.5% ได้รับผลกระทบทางลบ เพราะกังวลกับความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองใหม่ กังวลนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงอาจส่งผลต่อต้นทุน เช่น ขึ้นค่าแรง จึงต้องการให้รัฐบาลดูแลต้นทุนให้เหมาะสม เร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ดูแลหนี้ครัวเรือน โดยภาคธุรกิจคาด เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวเฉลี่ย 3.42%

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบหนักสุดของธุรกิจคือ ต้นทุนการผลิตด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ยอดขายยังไม่กระเตื้อง แม้การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกซึม การส่งออกไม่เด่น ดึงกำลังซื้อออกจากระบบ แล้วมีปัจจัยค่าไฟแพง เงินเฟ้อสูงอีก ทำให้คนไม่กล้าใช้จ่าย และกำไรของภาคธุรกิจยังบางอยู่

สำหรับผลกระทบจากการเมืองนั้น ภาคธุรกิจกังวลการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น แลนด์สไลด์ หรือการได้รับคะแนนเลือกตั้งถล่มทลาย การเปลี่ยนขั้วการเมือง เสถียรภาพทางการเมือง ฯลฯ ทำให้ในระยะสั้น หรือช่วงไตรมาส 2-3 นี้ การลงทุนใหม่ หรือต่อยอดธุรกิจต้องรอดูสถานการณ์ก่อน นอกจากนี้ ยังกังวลนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง อาจกระทบต่อธุรกิจ รวมถึงกังวลปัญหาคอร์รัปชัน แต่หวังว่า ธุรกิจจะดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

“การเลือกครั้งนี้ จะหาเสียงกันอย่างดุดัน เพื่อให้เป็นฝ่ายชนะ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้รับเลือกแบบแลนด์สไลด์ และได้เป็นนายกฯ ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมอบความไว้วางใจให้ และมั่นใจจะนำพาประชาชนได้ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมไทยได้”

ส่วนการหาเสียงที่จะดุดัน และเข้มข้นนั้น ทำให้คาดว่า จะมีเงินสะพัด 50,000-60,000 บาท และมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2 เท่า หรือ 100,000-120,000 บาท กระตุ้นให้เศรษฐกิจโตได้ 0.5-0.7% และไตรมาส 2 โตได้ 3-4% แต่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ธุรกิจต้องการให้เร่งเบิกจ่าย ทำให้เงินหมุน ช่วยพยุงเศรษฐกิจไปก่อน และไม่อยากให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็ว เพราะเงินเฟ้อเริ่มทยอยลดลงแล้ว