มุมมองนวัตกร…ในยุคที่โลกเผชิญโควิด-19

  • หลักสูตรผลิต“แพทย์นวัตกร”
  • หุ่นยนต์ลำเลียง สู้โควิด -19

โลกยังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ณ วันที่ 4 พค 63 พุ่งกว่า 3.5 ล้านคน อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา อันดับ 2-6 รองลงมา สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมันและอังกฤษ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 248,285 คน รวมถึงในประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทางด้านสังคม เศรษฐกิจ สาธารณสุข วิศวกรรมและเทคโนโลยี มาเปิดมุมมองของนวัตกรและนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีต่อโอกาสและความท้าทายจากวิกฤติโควิด-19

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบวิกฤติโควิด-19 ว่าเป็น The Fight of the Century หรือ “การต่อสู้แห่งศตวรรษ” ระหว่างมนุษย์ 7,800 ล้านคน กับไวรัสที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นานาประเทศต่างเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดที่เขย่าโลกให้ปั่นป่วน และล๊อคดาวน์เมืองต่างๆอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ในการสร้างบุคคลากรมารองรับวิถีใหม่เปลี่ยนโลก New Normal คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดพัฒนาหลักสูตรผลิต“แพทย์นวัตกร” หรือหลักสูตรร่วมแพทย์-วิศวะ (พ.บ. – วศ. ม.) เรียน 3-1-3 ปี ได้สองปริญญา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ ที่เปิดสอนเป็นแห่งแรกในอาเซียนมากว่า 22 ปี ตอบโจทย์ยุคที่โลกเผชิญสงครามชีวภาพโควิด-19 ซึ่งมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นแนวหน้า วิศวกรและนวัตกรเป็นกองหนุน

นายชวพล ดิเรกวัฒนะ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันทำงานเป็นนักวิชาการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ใครจะคาดคิดว่าไวรัสตัวจิ๋วจะจู่โจมเราได้รวดเร็วทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขตลอดมา การมาของโควิด-19 ได้พลิกโลก…สังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ให้เปลี่ยนไป รวมถึงการแพทย์และสาธารณสุขด้วย ทั้งเป็นตัวเร่งบังคับ ให้แนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ Digital Transformation เป็นจริงเร็วขึ้น วันนี้เราจึงได้เห็นโรงเรียน มหาวิทยาลัยทำการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ คนทำงาน Work From Home แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถตรึงกำลังและสูญเสียน้อยเพราะเรามีทีมไทยแลนด์ที่ทำงานร่วมกันได้ผลดี แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่จนถึง อสม.ในชุมชนที่เข้มแข็งทุ่มเท แต่ในระยะยาวประเทศเราต้องเร่งสร้างบุคคลากรที่มีศักยภาพในการทำงานวิจัยพัฒนาและผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ รองรับอนาคตและภาวะฉุกเฉินที่จะมาอย่างไม่คาดฝัน สร้างเครื่องมือสนับสนุนสาธารณสุขไทยและประชาคมโลกได้ดียิ่งขึ้น

นายสุวิพัฒน์ ฉลองวงศ์ ปัจจุบันทำงานที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ พร้อมใจกันสวมหน้ากาก อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ในมุมมองของนวัตกร สถานะการณ์โควิด-19 เปรียบเสมือนการเปิดน่านน้ำเสรีใหม่ให้กับเหล่านักวิจัย นวัตกรทางการแพทย์ ได้เข้ามามีบทบาทและแสดงศักยภาพในการช่วยเหลือแก่สังคม หลายสิ่งเราทำได้ดีกว่าประเทศตะวันตกเสียอีก ทำให้งานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ของคนไทยเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าโควิด-19 มาพร้อมกับความขาดแคลนหน้ากาก ชุด PPE อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการต่อสู้กับโควิด19ทำให้เกิด DIY สิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยการแพทย์มากมาย หลายอย่างมีหลักการและใช้งานได้ดี แต่หลายๆอย่างก็สุ่มเสี่ยงอันตรายต่อคนป่วยและขัดต่อหลักความปลอดภัยทางวิศวกรรม เนื่องจากมีเวลาจำกัด ขาดองค์ความรู้ความเข้าใจทางวิศวกรรมชีวการแพทย์และการแพทย์ คิดว่าในอนาคตเมื่อแพทย์นวัตกรหรือวิศวกรชีวการแพทย์มีมากขึ้น กระจายตัวไปทำงานยัง รพ.ต่างๆ จะสามารถพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และผลักดันให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ พร้อมไปกับยกระดับระบบสาธารณสุขของไทยให้ดียิ่งขึ้นได้

ดร.ดิลก ปืนฮวน อาจารย์โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และศิษย์เก่าปริญญาเอก ภาควิชาชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้เราเห็นภาพชัดว่าประเทศไทยมีการพึ่งพาเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศสูงมาก ต่อไปประเทศไทยคงจะให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศและอุตสาหกรรมเฮลท์เทคมากยิ่งขึ้น วิศวกรและนวัตกรไทยมีฝีมือไม่แพ้ใคร ไทยเรามีข้อได้เปรียบเพราะเป็นฐานของอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ที่มาประยุกต์ใช้ได้ จะช่วยลดการนำเข้าและสำรองการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในภาวะฉุกเฉินในอนาคต วิศวกรชีวการแพทย์ และ แพทย์นวัตกร นี้ เรียกได้ว่าเป็นดีไซเนอร์แห่งวงการแพทย์ บุคคลเหล่านี้จะเป็นพลังในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

รศ.นพ.ดร.สรยุทธ์ ชำนาญเวช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หุ่นยนต์ตัวนี้ออกแบบมาใช้งานดูแลคนป่วยโควิด-19 ลดความเสี่ยงของแพทย์พยาบาล สามารถช่วยส่งของ ส่งอาหาร ลำเลียงเวชภัณฑ์ รับน้ำหนักได้ 100 กก.ควบคุมด้วยระบบ IoT (Internet of Things) ทั้งสามารถสั่งการผ่านอินเทอร์เน็ต และสามารถทำหน้าที่สนทนาออนไลน์ระยะไกลระหว่างหมอกับคนไข้ (Telepresence) หรือประชุมออนไลน์กับผู้เกี่ยวข้องได้ด้วย