มีโอกาสไหม? เศรษฐกิจไทยติดลบ 2 ปีซ้อน

หลังจากที่ “ไปไม่สุด” ด้วยการใช้ “มาตรการกึ่งล็อกดาวน์” มา 7 วัน แต่ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง และจากการประเมินภาพไปข้างหน้า กราฟของผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยยังอยู่ในขาขึ้นไปอีกระยะ

ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป เราได้เข้าสู่ “การล็อกดาวน์” อย่างเต็มรูปแบบ ในลักษณะเดียวกันกับที่เราเคยประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเดือน เม.ย.2563 จะมีแตกต่างกันบ้าง ในส่วนของพื้นที่ และเวลาห้ามออกจากเคหสถาน หรือเคอฟิวในการประกาศล็อกดาวน์ 

ซึ่งครั้งนี้กำหนดไว้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส อยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ในขณะที่ช่วงเดือน เม.ย.เราประกาศพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ 

รวมทั้งกำหนดเวลาเคอฟิวที่เร็วขึ้น จากช่วงเดือน เม.ย.ห้ามในช่วง 23.00-04.00 น.เพิ่มเวลาเป็น 21.00 -04.00 น.เริ่มต้นไปอีก14 วันนับจากวันที่ 20 ก.ค.

ทั้งนี้ ภายใต้การประเมินภาพของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบค.ซึ่งประมวลจากการวิจัยของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่า 

ในกรณีดีที่สุด หรือ มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบได้ผลดีมาก และมีการฉีดวัคซีนได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย จำนวนคนติดเชื้อใหม่จะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปอีกระยะ และค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาประมาณ 1-2 เดือนจากจุดสูงสุด

ส่วนในกรณีฐาน หรือกรณีที่มีโอกาสเป็นไปได้ที่สุดในขณะนี้ คือ จำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นไปต่อไปอีก  โดยแตะจุดสูงสุดที่ 15,000-20,000 คนต่อวันในช่วงเดือน ส.ค.ก่อนจะเริ่มทรงตัว และทยอยลดลงในช่วงเดือน ต.ค. ขณะที่กรณีเลวร้าย เราอาจจะเจอผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นต่อเนื่องในระดับมากกว่า 20,000 -30,000 คนต่อวัน

หมายความว่า  แม้ว่าในกรณีที่ที่สุด คนไทยก็จะต้องอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ไปอีกประมาณ 2 เดือนนับจากวันนี้ และอาจจะเพิ่มเวลานานขึ้น หากเป็นกรณีฐาน หรือกรณีเลวร้าย ซึ่งย่อมกระทบต่อภาพรวมของการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างแน่นอน

โดยจากการรวบรวมล่าสุด สถาบันวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งสถาบันในประเทศ และนอกประเทศ ได้ปรับลดตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจไทยลงอย่างพร้อมเพรียง ในช่วงการประกาศมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ผ่านมา โดยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอยู่ระหว่าง 1-1.8%

แต่…

แต่ทุกหน่วยงาน ***กาดอกจัน*** ไว้ด้วยว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการในกรณีฐาน ซึ่งมีโอกาสที่จะเบ้ลงต่ำ เพราะมีปัจจัยลบ และความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยอยู่หลายจุด ที่จะทำให้ตัวเลขการเติบโตที่แท้จริงต่ำกว่าประมาณการได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ก่อน ยังไม่มีสถาบันใด มองกรณีเลวร้ายว่า ในปี 2564 นี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะ “ติดลบ” หรือขยายตัวต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีที่ผ่านมานั้น ถือเป็นปีหนึ่งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว จะเป็นรองก็แต่ช่วงปีวิกฤตต้มยำกุ้งเท่านั้น

แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นในขณะนี้ “เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่มีโอกาสติดลบจริงหรือ” เริ่มเป็นคำถามเบาๆ ที่กระซิบกระซาบกันในหมู่ในนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม

โดยตั้งข้อสังเกตุที่น่าสนใจไว้ว่า การตั้งสมมติฐานของการประมาณการเศรษฐกิจกรณีเลวร้ายในช่วงที่ผ่านมานั้น เชื่อว่ายังไม่มีหน่วยงานไหน ใช้กรณีเลวร้าย โดยมองว่า ประเทศไทยจะมีการติดเชื้อใหม่สูงสุดวันละ 20,000-30,000 คนต่อวัน รวมทั้ง การฉีดวัคซีนที่น้อยกว่าเป้าหมายมาก จากการส่งมอบวัคซีนไม่ตรงเวลา เป็นสารตั้งต้นในประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจ 

นอกจากนั้น อาจจะยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการประกาศเตือนของหลายๆ ประเทศ ที่เริ่มมองว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในการท่องเที่ยว และกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกที่จะลดลงในช่วงล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ

ขณะเดียวกัน ภายใต้ข้อจำกัดของมาตรการการเงิน และการคลัง รวมทั้ง เสถียรภาพทางการเมืองที่อ่อนแอลง ทำให้ยังต้องติดตาม “วงเงิน” ช่วยเหลือเพิ่มเติม และผลสัมฤทธิในทางปฎิบัติของมาตรการเยียวยา และเพิ่มการใช้จ่ายด้วยว่า จะมีประสิทธิภาพ และพยุงเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน

ทั้งนี้ ในการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ในช่วงเดือน เม.ย. 63 ภาคเอกชนประเมินไว้ที่ 200,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ล่าสุด สภาหอการค้าไทยประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ไว้ที่ 100,000 ล้านบาทต่อเดือน 

คิดแบบง่ายๆ แบบไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ว่า เรามีตัวบวกอยู่ประมาณ 1-1.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่มีตัวลบคือ ความเสียหายเดือนละ 100,000 ล้านบาท ใช้เวลาในการควบคุมการระบาดนานเท่าไร จะเป็นกรณีดีที่สุด กรณีฐานหรือกรณีเลวร้าย ก็ใช้จำนวนเวลาคูณ 100,000 ล้านบาท เข้าไป แล้วเอามาหักลบกัน

หากการล็อกดาวน์ต้องใช้เวลายาวนานมาก ตัวลบเพิ่มมากกว่าปัจจัยบวกที่มี เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจะมีโอกาสเข้าสู่การขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปีที่แล้วที่เราติดลบ 6.1%  ซึ่งจะทำให้จากความซบเซาที่เป็นอยู่ เราเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” อย่างสมบูรณ์  

และภาวะการณ์ดังกล่าวจะสร้าง “แผลลึก”ให้กับหลายภาคส่วนในเศรษฐกิจไทย และทำให้การฟื้นฟูหลังวิกฤตยากมากขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่าด้วย

แต่ในทางตรงกันข้าม หากยุติการระบาดได้เร็ว จัดหาวัคซีนทางเลือกใหม่ และกระจายการฉีดได้เร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้  แม้จะไม่ครบ 100 ล้านโดสในสิ้นปี แต่โอกาสที่เศรษฐกิจปีนี้จะยังอยู่ในแดนบวกก็ยังพอที่จะเป็นไปได้อยู่

ดังนั้น โอกาสสุดท้ายที่เรามี ณ วันนี้ คือ ถ้าจะเจ็บก็ต้องจบให้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุด นอกเหนือจากการทำงานที่ต้องมีประสิทธิภาพสูงสุดของรัฐแล้ว ก็คือ ความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ในการทำตามมาตรการเฝ้าระวัง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด อย่างที่เราเคยทำได้ดีมากในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา 

หาก “เราทำได้” ในกรณีดีที่สุด ใน 2 เดือน เราอาจจะได้กลับมาใช้ชีวิต “แบบปกติใหม่” กันอีกครั้ง กลับมาเร่งรัดทำมาหากิน เลี้ยงปากท้อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจกันต่อไป และเชื่อว่า ทุกคนคงไม่มีใครอยากให้ พวกเราเดินหน้าเข้าสู่ “อูฮั่น โมเดล” ที่ต้องปิดเมือง ปิดบ้าน หรือปิดประเทศ อย่างแน่นอน

#TheJournalistClub #โควิด19 #วัคซีนโควิด #ล็อกดาวน์ #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ