มังกรฟ้ารอด! ศาลสั่งยกคำร้องของดีอีให้ปิดเว็บไซต์ เผยชัดเจนเเพลตฟอร์มมังกรฟ้าไม่ใช่ผู้ขายสลากโดยตรง ไม่ใช่ผู้กำหนดราคา โดยคนกำหนดราคาเป็นผู้ซื้อ-ผู้ขาย

  • เผยมังกรฟ้าเป็นแค่ตลาดที่ได้ค่าบริการ และมีค่าดำเนินการ 4 – 5 บาทต่อใบเท่านั้น
  • ย้ำประเด็นนี้ศาลได้วินิจฉัยชัดเจนว่า บริษัท มังกรฟ้าฯ ไม่ได้ขายหวยเกินราคา
  • ชี้พยานกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้เบิกความทุจริตอย่างไร จึงไม่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 พ.ค.65) เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 802 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคดีปิดเว็ปไซต์ “มังกรฟ้า” หมายเลข ดพศ 74/2565 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ บริษัทมังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัด ผู้คัดค้าน

ทั้งนี้ กรณีเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 กระทรวงดิจิทัลฯตรวจสอบพบว่า มีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การเข้าพนันในการเล่นทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการจัดให้มีการเล่นหรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศ โฆษณา หรือชักชวน โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่น หรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาต

ผู้ร้องจึงขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หมายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว จำนวน 3 URLs และแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์ม จำนวน 2 รายการ รวม 5 รายการ กระทรวงดิจิทัลฯ และยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา 

โดยเมื่อวันที่  25 เม.ย.ศาลได้ไต่สวน พยานทั้งฝ่ายผู้ร้อง และผู้คัดค้าน แล้วเสร็จจึงนัดฟังคำสั่งวันนี้  

โดยนายพชรล์ เมสสิยาห์พร หรือ แทมป์ ผู้บริหารบริษัทมังกรฟ้าฯ และนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความเดินทางมาศาลอาญา

โดยนายอนันตชัย กล่าวว่า การฟังคำสั่งในวันนี้ จะมีผลต่อช่องสัญญาเว็ปไซต์มังกรฟ้า กับอีกสองลิงค์ในเครือข่ายเท่านั้น แม้ตอนแรกทางกระทรวงดิจิทัลฯ จะร้องมารวม 5 รายการ เพราะอีกสองรายไม่เกี่ยว ซึ่งหากผลออกมาไม่เป็นคุณ เราจะยื่นอุทธรณ์ทันที 

ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์คำเบิกความ และพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า บริษัทบลูดราก้อนฯ  เพียงแค่รวบรวมสลาก ส่วนการกำหนดราคาขายเป็นเรื่องของผู้ค้า ผู้ซื้อ -ผู้ขายกำหนดราคากันเอง โดย บริษัท บลูดราก้อนฯ ไม่มีส่วนกำหนดราคา จึงฟังไม่ได้ว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล

ส่วนที่ บริษัทฯ ได้ปิดบังบาร์โค้คสลากกินแบ่ง งวดที่ วันที่ ทำให้สลากดูไม่สมบูรณ์ เป็นการบิดเบือนหรือทุจริตหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าแม้การกระทำดังกล่าวเป็นการบิดเบือนฉลากให้แตกต่างไปจากความเป็นจริง แต่พยานฝ่ายผู้ร้องก็มิได้เบิกความยืนยันว่า บริษัทบลูดราก้อนฯทุจริตแต่อย่างไร อีกทั้งเมื่อบริษัทบลูดราก้อนฯ ไม่ได้ขายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนด  จึงไม่ได้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ ประกอบกับคำให้การของพยาน ซึ่งเบิกความว่า การกระทำของบริษัทบลูดราก้อนฯ ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลฯ พ.ร.บ.การพนัน ฯ เป็นการประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้ทำให้กองสลากเสียหาย จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

ดังนั้นศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งระงับสัญญาณช่องทางของ บริษัทบลูดราก้อนฯ และเว็บไซต์ในเครือข่ายอีก 2 เครือ ยกคำร้อง

ทั้งนี้ภายหลังฟังคำพิพากษาของศาลฯ นายอนันต์ชัยกล่าวว่า ศาลมีคำพิพากษาชัดเจนว่า เเพลตฟอร์มมังกรฟ้าไม่ใช่ผู้ขายสลากโดยตรง และไม่ใช่ผู้กำหนดราคา โดยคนกำหนดราคาเป็นผู้ซื้อและผู้ขาย โดยมังกรฟ้าเป็นแค่ตลาดที่ได้ค่าบริการ และค่าดำเนินการ 4 – 5 บาทต่อใบเท่านั้น ซึ่ง ประเด็นนี้ศาลได้วินิจฉัยชัดเจนว่า บริษัท มังกรฟ้าฯ ไม่ได้ขายหวยเกินราคาเหมือนกับที่นายตำรวจท่านหนึ่งมาบอกว่า เราขายหวยเกินราคา โดยในการไต่สวนที่ผ่านมาศาลจะหยิบยกคำซักค้านพยานและพยานหลักฐานของเรา วันนี้ถือว่าเรากู้ศักดิ์ศรีของมังกรฟ้าได้แล้ว