มองเศรษฐกิจผ่าน 5 เทรนด์ใหม่รับปี 65

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์  เราจะผ่านปีเก่า 2564 ไปสู่ปีใหม่ 2565 และต้อนรับการครบรอบ 2 ปี ของการอยู่กับวิกฤตโควิด-19” อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปี 2564 ที่ผ่านมา เราจะต้องเผชิญหน้ากับ “วิกฤตที่หนักมาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา โดยมีผู้ติดเชื้อสูงสุดมากกว่า 23,000 คนต่อวัน ต้องเผชิญหน้ากับการล่มสลายอย่างสิ้นเชิงของระบบสาธารณสุขของประเทศ 

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านความยากลำบาก ภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยได้ผ่าน “จุดต่ำสุด” ของวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 

ขณะที่การกลายพันธุ์ของโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลตาเปลี่ยนสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแพร่กระจายได้เร็วกว่า และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากกว่ากำลังเป็นความกังวลของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

“ไฟเซอร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมายอมรับว่า โควิด-19 ยังมีโอกาสกลายพันธุ์ต่อเนื่องเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้อีก โดยหลังจากการเกิด “โอมิครอน” ทำให้ตระหนักได้ว่า เรายังต้องอยู่กับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี โดยคาดว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในทุกภูมิภาคทั่วโลกภายในสิ้น 2567

แต่นอกเหนือจาก “โควิด-19” นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ยังมีโอกาส และความเสี่ยงอีก 5 เรื่อง ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ และเราจำเป็นต้องปรับตัว ปรับธุรกิจเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด

โดยเทรนด์แรก ที่ยังคงอยู่กับเราต่อเนื่อง คือ “เศรษฐกิจดิจิทัล” เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งในช่วงต่อจากนี้ นอกเหนือจาก แอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ การประชุมผ่านระบบทางไกลที่เราเริ่มคุ้นชินกันแล้ว

ปีหน้าเราจะพบว่า ต้องรับมือกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้ากว่า โดยเฉพาะระบบการเงินการลงทุนการใช้สินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล  รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรกลอัจฉริยะ ที่จะเข้ามาลดต้นทุนในการผลิต และทดแทนแรงงานคนมากขึ้นๆ ซึ่งที่ผ่านมานั้น เราพบว่า แม้ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยส่วนใหญ่ต่างลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้วค่อนข้างดี แต่ยังไม่เกิดขึ้นเร็วและแรงพอสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

ตามมาด้วยเทรนด์ที่ 2 ซึ่งนอกเหนือจากเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว เรายังต้องเตรียมพร้อมกับ “เศรษฐกิจสีเขียว” และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งจะสร้างผลกระทบโดยตรงจากผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาจากอากาศที่ร้อนมากขึ้น หนาวมากขึ้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นแล้ว ภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม พายุเฮอริเคน ทอนาโด ไฟไหม้ป่า จะรุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ความพยายามในการออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งมาตรการทาการค้า ลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อที่เน้นการเป็นธุรกิจสีเขียว จะเพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจจำนวนมากต่อจากนี้

ขณะที่เทรนด์ที่ 3 เป็นผลจากการเดินหน้าสงครามการค้าของจีนและสหรัฐฯที่เริ่มตึงเครียดมากขึ้นรวมทั้งสร้างกลุ่มพันธมิตรทาการค้า การลงทุน และโลกาภิวัฒน์ที่ย้อนกลับ โดยหลังจากเผชิญหน้ากับโควิด-19 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะเน้น การเติบโตจากภายในมากขึ้น ทั้งการพึ่งพากำลังซื้อจากภายในประเทศ ทั้งภาคสินค้า และบริการด้วยการส่งเสริม การลงทุน การผลิตสินค้า การใช้สินค้า รวมทั้งการท่องเที่ยวในประเทศแทนการซื้อสินค้าและการท่องเที่ยวในต่างประเทศ เช่นเดียวกับการใช้ห่วงโซ่การผลิตในประเทศ หรือประเทศพันธมิตร เพื่อให้เกิดความมั่นคงในกระบวนการผลิตสินค้าของประเทศตนเองมากขึ้น

สำหรับเทรนด์ที่ 4 คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในระยะต่อไปจากนี้ ซึ่งจะกระทบต่อตั้งแต่ต้นน้ำของต้นทุนการผลิต กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปจนถึงราคาสินค้าเมื่อถึงมือผู้บริโภค ขณะที่ “ค่าของเงิน” ในกระเป๋าที่ลดลงจะทำให้คนรู้สึกยากลำบากในการดำรงชีพมากขึ้น

ขณะที่เทรนด์สุดท้าย เทรนด์ที่ 5 เป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน นั่นคือ เงินดิจิทัล และคริปโตเคอเรนซี โดยแม้ว่าการเกิดขึ้นของเงินดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางเงินด้วยการตัดตัวกลางออกไป ลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งเงินของผู้ด้อยโอกาสทางการเงิน รวมทั้งช่วยเพิ่มเติมจินตนาการ และต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆจำนวนมาก 

แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เช่นกันว่า โลกของคริปโคเคอเรนซี กำลังเขย่าระบบการเงิน และการระดมทุนในโลกของ “เงินจริง”อย่างรุนแรง แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

แน่นอนว่า ทั้ง 5 เทรนด์ที่จะกำลังเกิดขึ้น และจะต่อเนื่องไปในปี 65 นี้ ล้วนมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และการดำรงชีวิตของคนไทยในปีเสือไฟนี้อย่างแน่นอน 

ซึ่งการเร่งที่จะรียนรู้ ปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ลงทุนเพิ่มเติม เพื่อรองรับและไปตามเทรนด์เหล่านี้ให้ได้ ถือความจำเป็นของประเทศไทย เอกชน และประชาชนไทย เพื่อให้เราฟื้นตัวไปกับกระแสโลกได้ ทั้งในเวลาที่เรายังต้องอยู่กับโควิด-19 และผ่านยุคเลวร้ายนี้ไปได้แล้ว