มหาดไทยเดินหน้าไม่สนเสียงค้านคมนาคมดัน”ขยายสัมปทานสายสีเขียว”เข้า ครม.

มหาดไทยเดินหน้าไม่สนเสียงค้าน! เสนอ ครม. อนุมัติขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ด้านคมนาคมยืนยันเสียงแข็งค้านหัวชนฝา ไม่เห็นด้วย เหตุ! มหาดไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และ หลักธรรมาภิบาล แถมร่ายยาว ส่วนต่อขยายสายสีเขียวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม.เหตุยังไม่มีการโอนจาก รฟม. มายัง กทม.-การคำนวณเก็บค่าโดยสาร ซึ่งเป็นสาระสำคัญทางกฎหมายที่ทำให้คมนาคมไม่เห็นด้วยต่อแนวทางข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้(8 ก.พ.) ทางกระทรวงมหาดไทย จะมีการเสนอวาระขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 65 ที่ผ่านมา ทางสำนักเลขาธิการ ครม.ได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อขอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. อีกครั้ง เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม.วันนี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ส่งหนังสือตอบกลับไปว่า ทางกทม.ได้ชี้แจง 4 ประเด็นที่กระทรวงคมนาคมทักท้วง และกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมจาก กทม.ทั้งหมดแล้ว ขอยืนยันตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของกทม.

ทั้งนี้เนื่องจากข้อมูลที่ กทม. จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นการคำนวณค่าโดยสาร ,และการรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย ที่ทาง กทม.ยืนยันว่าจะเข้าดำเนินการตั๋วร่วมแต่จะไม่ยอมลงทุนเอง

นอกจากนี้ในปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเป็นหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วง อันเป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจเห็นด้วยต่อแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ส่วนกรณีที่ กทม.รายงานว่าการโอนกรรมสิทธิ์ จากรฟม.มายัง กทม.ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก รฟม.ยังไม่สรุปรายละเอียดด้านการเงินสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทำให้ไม่สามารถรับโอนโครงการได้นั้น

ทาง กระทรวงคมนาคมขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กทม. รฟม. สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมหารือสรุปรายละเอียดค่าใช้จ่ายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่กรณีการติดตั้งสะพานเหล็กแยกหทัยราษฎร์และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งรอคำยืนยันจาก กทม. เนื่องจากการพิจารณากรอบวงเงินโครงการฯให้ได้ข้อสรุป ต้องมีความชัดเจนของแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กทั้ง 2 แห่งดังกล่าวก่อน เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดค่าช่ายของโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือลงวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ขอทราบผลการพิจารณาของกทม. และปัจจุบันกทม.ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงคมนาคม ทราบ

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ทางกระทรวงคมนาคมยังคงยืนยันที่จะไม่เห็นด้วยและคัดค้านการแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในที่ประชุม ครม.อย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้เคยทักท้วงเรื่องการต่อสัมปทานสายสีเขียวมาโดยตลอด จากสาเหตุ 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 2.ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท

3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา 4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยกระทรวงคมนาคมได้ขอให้กทม.ชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน