มหาดไทยจ่อจ้างงาน3หมื่นคนกระตุ้นบริโภคภาคครัวเรือน

  • มท.1 เผยเตรียมใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ จ้างงานกว่า 30,000 อัตรา
  • เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน
  • ย้ำทุกโครงการโปร่งใส คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยให้หน่วยงานเสนอโครงการผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบนั้น กระทรวงมหาดไทยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 63 จำนวน 2 โครงการ ภายใต้แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน จำนวนกว่า30,058 คน

ทั้งนี้โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง วงเงินไม่เกิน 1,080.59 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการจ้างงานเพื่อปฏิบัติงานเป็นอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ระยะเวลา 12 เดือน รวม 15,548 คน อัตราเดือนละ 5,000 บาท โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 63 – กันยายน 64 ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นการกระจายรายได้ให้ประชาชน และเกิดนักบริบาลที่เป็นอาชีพใหม่ในท้องถิ่น ซึ่งในระยะยาวจะเป็นอาชีพที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และ

2) โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) วงเงินไม่เกิน 2,701.87 ล้านบาท โดยกรมการปกครอง ดำเนินการจ้างงานเพื่อปฏิบัติงานเก็บข้อมูลรายเดือน จำนวน 12 เดือน จำนวน 7,255 ตำบล ตำบลละ 2 คน รวม 14,510 คน อัตราเดือนละ 15,000 บาท ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 – กันยายน 2564 ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน เกิดการจ้างงานในทุกตำบล อำเภอทั่วประเทศ และจะเกิดการจัดทำฐานข้อมูลแบบบูรณาการ (Database) ที่มีประสิทธิภาพสำหรับการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย พร้อมที่จะช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ด้วยการจ้างงานเพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคครัวเรือนและชุมชนไปพร้อมกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มีอาชีพ มีรายได้ และได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินโครงการด้วยความโปร่งใส ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่า