“มนัญญา” หนุนงานวิจัยภาคเกษตรสู่ “เกษตรมูลค่าสูง”มั่นใจสร้างมูลค่าได้มากกว่าหนึ่งล้านล้านบาท

รมชมนัญญา” เปิดการประชุมแถลงผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในรอบ 5 ปีซึ่งนำเสนอนวัตกรรมที่ทรงคุณค่ากว่า 900 เทคโนโลยีพร้อมย้ำให้เร่งขับเคลื่อนสู่เกษตรกรเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรระบุนับเป็นครึ่งทศวรรษแห่งความสำเร็จโดยดำเนินงานแบบ “ตลาดนำการวิจัย” สู่เกษตรมูลค่าสูงทำให้สร้างมูลค่าได้มากกว่าหนึ่งล้านล้านบาท

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมแถลงผลงานวิจัยสิ้นสุดปี 2559 – 2564 “กรมวิชาการเกษตรร่วมใจ มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อความมั่นคงทางอาหาร DOA Together for BCG and Food Security” โดยระบุว่า กรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อภาคการเกษตร ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทำงานวิจัยเพื่อรองรับภาวะวิกฤติของประเทศด้วยเช่น ภัยแล้ง ปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมไปถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร 

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า ผลงานที่โดดเด่นของกรมวิชาการเกษตรจะทำให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้เร่งขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่ภาคการเกษตรอย่างกว้างขวาง จากนี้ไปกรมวิชาการเกษตรจะทำงานในมิติใหม่ ด้วยการทำโครงการ “กรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่” นำความรู้และเทคโนโลยีไปถ่ายทอดให้เกษตรกรทุกท้องที่ 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและสิ้นสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลงานวิจัยเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย SME รายใหญ่ และอุตสาหกรรมการเกษตรรวมมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาท โดยมีมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กว่า 1.2 แสนล้านบาท ไม้และผลิตภัณฑ์ 1.5 แสนล้านบาท ข้าว 1.3 แสนล้านบาท ยางพาราและผลิตภัณฑ์ 1.4 แสนล้านบาท ทุเรียนและผลไม้สด 1.7 แสนล้านบาท ผลไม้แห้ง กล้ายไม้สด ผักสด และ ผลิตภัณฑ์จากพืชอื่นๆ กว่า 3 แสนล้านบาท

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรไม่น้อยกว่า 900 เทคโนโลยีได้แก่ การปรับปรุงและพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่รองรับตลาดเฉพาะและภาคอุตสาหกรรม 16 ชนิด (49 พันธุ์) พืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพในอนาคต 19 ชนิด พร้อมทั้งเทคโนโลยีการผลิตพืชท้องถิ่น 41 ชนิด พืช GI 9 ชนิด เพื่อพัฒนาเชิงการค้าและความมั่นคงทางอาหาร มีเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่กว่า 50 ต้นแบบ อาทิ เครื่องพ่นแบบใช้แรงลมช่วยสำหรับพ่นป้องกันหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เครื่องหยอดเมล็ดพืชและปุ๋ยอัตโนมัติ โรงเรือนอัจฉริยะควบคุมสภาวะอากาศอัตโนมัติ เป็นต้น

งานวิจัยยังสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตรกรรม โดยมีเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 20-50 % พัฒนาไปสู่ Web application ระบบพยากรณ์ผลผลิตไม้ผลเศรษฐกิจ ระบบให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน ระบบประเมินการระบาดของศัตรูมันสำปะหลัง

นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อมงานวิจัยรองรับวิกฤตภัยแล้งและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ประกอบด้วยสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่มีความต้องการใช้ในประเทศสูงถึง 4.02 ล้านตัน สร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดการนำเข้าถั่วเหลือง ร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ของอาเซียนและเชื่อมโยงการขับเคลื่อนผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน 

ส่วนการแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีการปรับปรุงพันธุ์ทนทาน การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อควบคุมการระบาดตลอดจนการป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดซึ่งมีคำแนะนำให้คลุกเมล็ด การพ่นสารเคมี และพ่นชีวภัณฑ์ มีเครื่องพ่นแบบอุโมงค์ลมสำหรับพ่นป้องกันการแพร่ระบาด ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรและค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี 

ด้านนวัตกรรมใหม่ มีการพัฒนาชุดตรวจสอบศัตรูพืชแบบแม่นยำสูง วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการเจรจาเปิดตลาดสินค้า จัดทำมาตรการสุขอนามัยพืชในการนำเข้าส่งออกสินค้าพืช ซึ่งส่งผลต่อตลาดเมล็ดพันธุ์และตลาดสินค้าเกษตร มูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี 

สำหรับการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชเศรษฐกิจใหม่คือ กัญชาเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ทั้งในด้านการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีCBD หรือ THC สูง และกระท่อม รวมทั้งการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีจีโนมิก เพื่อศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับสารสำคัญ มีตลาดยารักษาโรค สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารทางเลือกรองรับ มูลค่ากว่าแสนล้านบาท จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม แบบเบ็ดเสร็จ สายด่วน 1174 ให้ผู้สนใจสอบถามข้อมูล

ด้านสถานการณ์ส่งออกสินค้าพืช เพียง 5 เดือนแรกของปี 2565 มียอดการส่งออกกว่า 15.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า469,178.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.57% (เทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2564) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าพืชของประเทศไทย ตลอดจนจับมือกับกลุ่มพันธมิตรทั่วโลกเปิดตัวระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ “e Phyto” นำร่องเปิดใช้งานส่งออกพืช 22 ชนิดไปจีนพบกระแสดีเกินคาดสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกร เป็นการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ เปิดให้บริการครอบคลุมทุกสินค้าทุกประเทศทั่วโลก

กรมวิชาการเกษตรกำหนดมาตรการ GMP plus ให้โรงคัดบรรจุนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด19  ไปกับตู้สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผลไม้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศจีน สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยปี 2565 มีปริมาณการส่งออกระหว่าง 1 ก.พ. – 5 มิ.ย. 2565 (5 เดือนแรก) ปริมาณ 433,809.92 ตัน 

ด้านการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร จัดตั้ง “คลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่” (DOA Mobile Clinic) บริการต่ออายุใบอนุญาต GAP ใบรับรองแหล่งผลิตพืขอินทรีย์ ให้คำปรึกษาทางด้านการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เกษตรกรสมัครใหม่และต่ออายุกว่า 2,500 ราย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า จะเร่งเดินหน้างานวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชสู่เป้าหมายเกษตรมูลค่าสูงรวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืชที่มีศักยภาพสูง การใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเกษตรอัจฉริยะ การแปรรูปสร้างมูลค่าและแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตพืช เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ