“มนัญญา” ยืนยันไม่เคยคิดขายแบรนด์ “วัวแดง” ให้ต่างชาติ

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้มีประเด็นข่าวว่า องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย  หรือ อ.ส.ค.จะขายแบรนด์ไทย-เดนมาร์กให้ต่างประเทศเพื่อผลิตและจำหน่ายนมผง ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การก่อตั้ง อ.ส.ค. นั้น วันนี้จึงได้เชิญสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (สร.อ.ส.ค.) มาประชุมและหารือร่วมกับ นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. เพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ต่างฝ่ายต่างมีชุดข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด ซึ่งทั้งสองหน่วยงานต่างเป็นองค์เดียวกัน ควรมีความเข้าใจที่ตรงกัน

“อ.ส.ค. ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าโครงการดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้เอกชนใช้เครื่องหมายการค้าเท่านั้น ไม่ใช่การขายแบรนด์ตามที่มีการพูดถึง เป็นเพียงการให้สิทธิ์การใช้เครื่องหมายการค้า เฉพาะ “นมผงเลี้ยงทารก” เท่านั้น ซึ่งยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ทำเช่นนั้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า อ.ส.ค. ก่อตั้งมาเพื่อเกษตรกรคนไทย โครงการนี้จึงเป็นเพียงการอนุญาตเครื่องหมายการค้าเท่านั้น”

โดยมีเงื่อนไขในเรื่องของการแบ่งปันผลกำไร และการถ่ายทอดเทคโนโลยีนมผงสำหรับเลี้ยงทารก ซึ่งเป็นนมสูตร 2 สำหรับทารกหลังหย่านมอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี เท่านั้น  เพราะปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีโรงงานใดมีศักยภาพที่จะผลิตได้ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ตาม อ.ส.ค. ได้ชี้แจงว่า ขั้นตอนของโครงการนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดโดยสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ดังนั้น ระหว่างนี้จึงให้ อ.ส.ค. และ สร.อ.ส.ค. ไปหารือทำความเข้าใจกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ อ.ส.ค.และประเทศ และไม่กระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า อ.ส.ค. ได้ทำการศึกษาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2564 และเคยนำชี้แจงต่อที่ประชุมบอร์ด อ.ส.ค.  แล้ว รวมถึงชี้แจงต่อที่ประชุมใหญ่ สร.อ.ส.ค.  เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจ อ.ส.ค. ซึ่งมีโครงการนี้อยู่ด้วย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าไม่ใช่การขายแบรนด์ แต่เป็นการอนุญาติให้ใช้สิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าเฉพาะผลิตภัณฑ์ “นมผงเลี้ยงทารก” เท่านั้น (หลังหย่านมอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี) นมผงสำหรับทารกเป็นกลุ่มอาหารควบคุมเฉพาะ

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่มีโรงงานผลิตนมผงสำหรับทารก และหาก อ.ส.ค.จะลงทุนตั้งโรงงานต้องใช้งบประมาณมูลค่ากว่า 2,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่สูงมาก เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และต้องมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ หรือห้องแลป นอกจากนั้น โอกาสการแข่งขันทางการตลาดกับเอกชนผู้ผลิตนมผงเลี้ยงทารกรายใหญ่เป็นไปได้ยาก เพราะตลาดนมผงทารกในขณะนี้เป็นแบรนด์จากต่างประเทศทั้งหมด

“ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือร่วมกับกงสุลไทยประจำออสเตรเลีย ที่จะนำนมผงมาจำหน่ายในไทยภายใต้แบรนด์วัวแดง จึงมีการหารือมาเป็นลำดับ โดยมีเงื่อนไขแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อปี และอาจเพิ่มขึ้นตามยอดรายได้สุทธิ นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขว่า จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตนมผงทารก ตั้งแต่การเลี้ยงโคนมในระบบปิดให้ได้น้ำนมดิบคุณภาพดี เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง (High Technology) การพัฒนาคน”

รวมถึงผู้ที่ได้รับอนุญาติให้ใช้สิทธิ์จะต้องเป็นผู้ทำการตลาดเอง และหากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ อ.ส.ค.ก็มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา โดยที่ อ.ส.ค. ไม่ต้องมีการลงทุนใด ๆ และยืนยันว่าไม่กระทบกับธุรกิจหลักของ อ.ส.ค. เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคต่างกัน (ทารกหลังหย่านมอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี)  และไม่กระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เนื่องจากคุณภาพน้ำนมที่เกษตรกรไทยผลิตได้ยังไม่สามารถใช้ผลิตนมผงสำหรับทารกได้ ซึ่งต้องมีการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าว

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันน้ำนมดิบในประเทศมีปริมาณ 2,500 ตันต่อวัน จากเดิมที่ผลิตได้ 3,300 ตันต่อวัน ปริมาณน้ำนมลดลงเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบหลักที่นำเข้าในการผลิตอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น เป็นผลกระทบสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงวัวนม ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำนมดิบ 20.50 บาทต่อกิโลกรัม และจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจึงมีการแย่งซื้อ เอกชนกว้านซื้อน้ำนมดิบหน้าศูนย์ราคาน้ำนมดิบ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 24 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโคนมรวมทั้ง อ.ส.ค. ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น

ด้านนางสาวณัฐภร แก้วประทุม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (สร.อ.ส.ค.) กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่ได้รับการสื่อสารโดยตรงจาก ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ตลอดจนเอกสารโครงการงานวิจัยต่าง ๆ จึงต้องไปยื่นเรื่องร้องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกันกับ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ให้มากขึ้น และเห็นว่า อ.ส.ค. ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ อ.ส.ค. มีอยู่แล้วให้ดี และต้องสร้างความมั่นใจกับเกษตรกรผู้เลี้ยงนม ตลอดจนสมาชิก อ.ส.ค. ว่า สมาชิกจะไม่ได้รับผลกระทบ