“มนัญญา”ปลดล็อกสมุนไพรจากบัญชีวัตถุอันตราย เพราะต้องการให้เกษตรกรลด-เลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงถึงกรณีที่มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งออกร่างกฎหมาย เพื่อปรับสารสำคัญจากสมุนไพร 13 ชนิด ซึ่งตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมจัดให้อยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ.2) มานานหลายปีแล้ว โดยต้องการให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาเป็นรายชนิดพืช หากชนิดใดมีความเป็นพิษต่ำมากให้ปลดจากบัญชีวัตถุอันตราย แต่หากมีความเป็นพิษอยู่ในระดับที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังให้ปรับมาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.1) 

ทั้งนี้ ขอทำความเข้าใจต่อประชาชนและเกษตรกร เนื่องจากสื่อบางสำนักนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนว่า รมช. มนัญญาจะนำพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นเครื่องต้มยำและเครื่องแกงเข้าสู่บัญชีวัตถุอันตราย จนมีผู้ไม่พอใจจำนวนมาก สำหรับพืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก หากเกษตรกรผลิตเป็นสารกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีที่ไม่ใช่กระบวนการเคมี เช่น ไม่ได้สกัดด้วยแอลกอฮอล์ หรือผสมสารเคมีอื่นใด เป็นต้น เกษตรกรที่ผลิตด้วยภูมิปัญญา เช่น การหมัก บ่ม หรือตากแห้งแล้วบดเป็นผงนั้น สามารถทำเพื่อใช้ในไร่นาได้เลย โดยไม่ต้องมาจดแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร แต่หากจะผลิตเพื่อจำหน่ายจะต้องขึ้นทะเบียน

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าผลักดันเรื่องนี้ เพราะต้องการผลิตสารชีวภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีจำหน่ายหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการก็ไม่เป็นความจริง ย้ำว่าชีวิตนี้ไม่ได้ลำบากและครอบครัวไม่ได้ประกอบกิจการค้าสารเคมีทางการเกษตร ตั้งใจทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัย ตลอดจนผลักดันให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรลำดับต้นของโลก

“ให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาสารสำคัญในพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดว่า ชนิดใดควรปรับลดจาก วอ.2  เป็นวอ.1 และชนิดใดสมควรปลดออกจากบัญชีวัตถุอันตราย แล้วยกร่างกฎหมายเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา โดยกำหนดให้ยกร่างกฎหมายภายใน 1 เดือน เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรที่จะลดการพึ่งพาสารเคมีและประชาชนได้บริโภคอาหารปลอดภัย” นางสาวมนัญญา กล่าว