มกอช. MOU สมาคมการค้าตลาดกลางฯ หนุนใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรในตลาดกลาง สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค

มกอช.ร่วมมือ สมาคมการค้าตลาดกลางฯ ลงนาม MOU หนุนมาตรฐานสินค้าเกษตรใช้ในตลาดกลาง เสริมความเชื่อมั่น สร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายสินค้าเกษตร

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ตลาดกลางสินค้าเกษตร เป็นหน่วยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบห่วงโซ่คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร เนื่องจากสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าประเภทผักและผลไม้จำนวนมากที่จะต้องจำหน่ายผ่านตลาดกลางค้าส่งก่อนถึงผู้บริโภคปลายทาง โดยปัจจุบัน มีสมาชิกตลาดกลางค้าส่งทั่วประเทศ 17 แห่ง ในการกระจายสินค้าเกษตร โดยมีสินค้าเกษตรที่จำหน่ายผ่านตลาดกลางรวมทั้งสิ้น 44,๐๐๐ ตัน/วัน ซึ่งตลาด ที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดศรีเมือง ดังนั้น เรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาและจำหน่ายออกจากตลาดกลาง

ดังนั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งมกอช. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 รวมถึงกำกับ ดูแล และส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปปฏิบัติใช้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมให้มาตรฐานสินค้าเกษตรถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ร่วมมือกับสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย (TAWMA) จัดทำความร่วมมือบันทึกข้อตกลง (MOU) “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการนำมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ไปปฏิบัติใช้สำหรับตลาดกลาง”

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ปฏิบัติในตลาดกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในการกระจายสินค้าไปยังผู้ซื้อ ผู้ขาย รวมถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นการยกระดับ และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้บริโภค และสร้างความเป็นธรรมด้านการซื้อขายสินค้าเกษตร โดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยกคุณภาพ ตัดแต่ง บรรจุ ตลอดจนการขนส่ง เพื่อให้สินค้าคงคุณภาพ ลดการสูญเสีย จนถึงปลายทางผู้บริโภค

ซึ่งการสนับสนุนให้มีการวางระบบมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรสำหรับตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรถือเป็นกลไกสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรที่จำหน่ายในตลาดกลางแล้ว ยังเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในการค้าสินค้าเกษตรสำหรับคู่ค้า ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดระบบการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าเกษตรสำหรับตลาดกลางในประเทศให้มีความเป็นสากล สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ความปลอดภัย รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตได้

ทั้งนี้ มีแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย ระยะ Quick Win คือแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน โดย มกอช. และสมาคมการค้าตลาดกลางสินค้าเกษตร ได้กำหนดให้มีการจัดพิธีลงนาม MOU ดังกล่าวขึ้น เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 และได้จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและระบบการรับรอง รวมถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (QR-Traceability) การดำเนินงานระยะที่ 1 การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานและพัฒนาต้นแบบการจัดการสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน โดยจะเริ่มนำร่องที่ “ตลาดไท” ซึ่งเป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบห่วงโซ่อาหารและสินค้าเกษตรของประเทศ

โดยในระยะแรกนี้ มกอช. และตลาดไท ได้ร่วมคัดเลือกผักและผลไม้ที่ต้นแบบ จำนวน 10 ชนิด แบ่งเป็น ผลไม้ 5 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง ฝรั่ง ส้ม และแอปเปิล และผักอีก 5 ชนิด ได้แก่ ผักบุ้ง พริก มะนาว มะเขือเทศ และตะไคร้ รวมถึงอาจจะเพิ่มขอบข่ายสินค้าพืชสมุนไพรในอนาคตด้วย

การดำเนินงานระยะที่ 2 การจัดทำมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยและคุณภาพตลาดกลางสินค้าเกษตร และการดำเนินงานระยะที่ 3 การเตรียมความพร้อมระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานและจัดทำระบบ Supply Chain จากนั้นจะนำต้นแบบจาก “ตลาดไท” ขยายผลไปยังตลาดกลางสินค้าเกษตรแห่งอื่นเพิ่มเติม ในปีถัดไป

“ผู้ผลิตหรือผู้ซื้อที่ซื้อสินค้าจากตลาดกลาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อจากร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล หรือเรือนจำ สามารถมั่นใจได้ว่า สินค้าที่ออกจากตลาดกลางเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อการบริโภค และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จนถึงแหล่งผลิต ภายใต้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เครื่องหมาย Q (Q mark) หรือ เครื่องหมายออแกนิคส์ไทยแลนด์ (Organic Thailand)” เลขาธิการ มกอช. กล่าว