“พุทธิพงษ์” พบกสทช. ถก 5 ประเด็นเพื่อทำงานร่วมกันใกล้ชิด

  • ตรวจสอบการใช้ประโยชน์เน็ตประชารัฐ
  • จ่อเรียก “ทีโอที” ถกปมเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก
  • เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี “ขับเคลื่อน 5 จี “ เป็นวาระแห่งชาติ

พุทธิพงษ์”อึ้งฟังข้อมูลกสทช.แล้วต้องกลับทบทวนโครงการเน็ตประชารัฐใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสร้างประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  เปิดเผยภายหลังการเข้าพบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ได้หารือร่วมกันใน 5 ประเด็น คือ 1.การให้บริการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ และการให้บริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลเน็ตชายขอบ  2.นโยบายดาวเทียม 3.ความคืบหน้าการขับเคลื่อน5จี 4.การปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก และ5.บทบาทการเป็นเจ้าภาพร่วมประชุมระหว่างประเทศ  เพื่อให้ดีอีเอสและกสทช.ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้หลังจากรับฟังข้อมูลจากกสทช.แล้ว จะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงดีอีเอสต่อไป โดยเฉพาะการใช้งานอินเตอร์เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้านให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงจะขอทบทวนการขยายอินเตอร์เน็ตประชารัฐอีก 10,000 จุดใหม่ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องงบประมาณในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ของเน็ตประชารัฐ ที่กำหนดไว้ปีต่อปี  ซึ่งเกรงว่าจะกระทบต่อการให้บริการประชาชน ขณะที่เน็ตชายขอบกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาไว้ 5 ปี เพราะฉะนั้นควรจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินการโครงการของรัฐบาล  

“ส่วนนโยบายดาวเทียมนั้น เป็นเรื่องที่มีความกังวลว่าจะบริการจัดการอย่างไร ให้ทันการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียมในปี2564 เนื่องจากต้องเสนอรูปแบบการส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ต้องใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งกระทรวงดีอีเอส ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป ดังนั้นในปี2563 จะต้องมีความชัดเจนเรื่องการเตรียมการรองรับสัญญาสัมปทานดาวเทียมสิ้นสุดในปี2564 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ ยอมรับว่าที่ผ่านมาการทำงานระหว่างกระทรวงดีอีเอส กับกสทช.มีปัญหาในการประสานงานกัน แต่จากนี้ไปจะทำงานกันใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น”

สำหรับเรื่องการปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ต้องเรียกทีโอที มาชี้แจงรายละเอียดก่อน ขณะที่การขับเคลื่อน 5 จี ให้เป็นวาระแห่งชาตินั้น จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป    ส่วนประเด็นการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระหว่างประเทศนั้น จากนี้ไปจะหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แนวทางการดำเนินงานของประเทศไปในทิศทางการเดียวกัน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า  กสทช.จะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามข่าวปลอม (Anti-Fake News  Center) ของกระทรวงดีอีเอส โดยเดือนพ.ย.นี้ ทางผู้บริหารเฟซบุ๊ค จะเดินทางมาประเทศ เพื่อหารือและร่วมมือในการดำเนินการปราบปรามข่าวปลอม ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการผลักดันให้การขับเคลื่อน 5 จี เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป  โดยกสทช.ยืนยันว่าจะเปิดประมูล 5 จี ปลายปี2562 และเปิดให้บริการกลางปี2563 ส่วนประเด็นดาวเทียมนั้น หากกระทรวงดีอีเอส ไม่สามารถดำเนินการตามแผนพีพีพี ได้ กสทช.ก็จะออกมาตรการเยียวยา เพื่อให้ลูกค้ายังใช้งานอย่างต่อเนื่องต่อไป

สำหรับโครงการทำให้ประเทศไทยทุกหมู่บ้าน มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งานนั้น ได้มีการแบ่งการดำเนินการระหว่างกสทช. กับกระทรวงดีอีเอส  เป็น 3 ส่วนคือ 1.โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ด้วยการ ติดตั้งไวไฟ 24,700 หมู่บ้าน ดำเนินการโดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 2.ติดตั้งไวไฟ 15,372 หมู่บ้าน ดำเนินการโดยกสทช. และ3. โครงการเน็ตชายขอบ 3,970 หมู่บ้าน ดำเนินการโดยกสทช.