“พีทีที แอลเอ็นจี” ลั่นไทยพร้อมเป็นฮับซื้อขาย “LNG” ของภูมิภาค

  • เดินหน้าระบบบริการขนถ่ายทั้งขนส่งทางเรือและรถยนต์
  • พร้อมให้บริการเติม LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ
  • เผยสถานีหนองแฟบลงทุน 38,500 กว่าล้านบาท คืบหน้าแล้ว 40% คาดแล้วเสร็จกลางปี 65

นายโชคชัย ธนเมธี  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับปรุงท่าเทียบเรือมาบตาพุดและพื้นที่บรรจุแอลเอ็นจี (LNG) เพื่อรองรับการขนส่ง LNG ทั้งทางรถยนต์และทางเรือ เพื่อบริการลูกค้าที่มาใช้บริการในการบรรจุ LNG หรือ Reload ทั้งการนำเข้า LNG แล้วจำหน่ายต่อแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะรองรับนโยบายของภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) โดยตามแผนของกระทรวงพลังงานจะเริ่มทดสอบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) 

ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย Map Ta Phut LNG Terminal  สามารถรับเรือขนส่ง LNG ขนาด 125,000-284,000 ลูกบาศก์เมตร การปรับปรุง เพื่อ Reload ก็จะทำให้ขนส่งทางเรือเล็ก 60,000 ลูกบาศก์เมตร และขนส่งทางรถยนต์ 20,000 ลูกบาศก์เมตร โดยสถานีแห่งนี้มีความสามารถแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 11.5 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,610 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยผู้ใช้บริการรายแรก คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. มีสัญญาซื้อขาย LNG สัญญาระยะยาวแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี และรายที่ 2 คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการนำเข้าแล้วในสัญญาตลาดจร (SPOT) ลำแรก 65,000 ตัน และลำที่ 2 จะนำเข้าเดือนเม.ย. 2563 อีก 65,000 ตัน

“ความคืบหน้าท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย LNG  แห่งที่ 2  สถานีหนองแฟบ ลงทุนรวม 38,500  ล้านบาท  ขณะนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้ว 40% ซึ่งก็คาดว่าจะเสร็จและเปิดให้บริการตามแผนกลางปี 2565 โดยมีความสามารถแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 7.5 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,050 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน”

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซฯ ประมาณ  5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปัจจุบัน 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มาจากอ่าวไทย อีก 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อย่างละครึ่งมาจากเมียนมา และ LNG ซึ่งก๊าซจากเมียนมาและอ่าวไทยทยอยลดลง ไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น เป้าหมายแรก คือ การใช้เองในประเทศและกำลังวางแผนเป็น  Regional LNG Hub จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม คาดจะเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยโดยรวมประมาณ 165,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปี (ปี 2563-2573) และมีผลต่ออัตราการจ้างงานเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้นเท่ากับ 16,000 คนต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้าด้วย