พิษวิกฤติยูเครนทำเศรษฐกิจไทยเสียหาย 2.44 แสนล้านบาท

.เลวร้ายสุดฉุดจีดีพีปีนี้ดิ่งเหลือโตแค่ 2.7% เงินเฟ้อพุ่ง 5.5%

.ถ้าคลี่คลายใน 3 เดือนเศรษฐกิจเสียหายแค่ 7.3 หมื่นล้าน

.หอการค้าไทยมั่นใจรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันจนถึงเดือนมิ.ย.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยว่า ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายในหลายกรณี โดยกรณีแย่ที่สุด ความขัดแย้งยืดเยื้อตลอดปี 65 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหาย 244,750 ล้านบาท แบ่งเป็นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเสียหาย 78,800 ล้านบาท การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบ พลังงานที่พุ่งสูงขึ้น เสียหาย 60,500 ล้านบาท การส่งออกสินค้าเสียหาย 54,800 ล้านบาท รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเสียหาย 50,400 ล้านบาท รายได้จากการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศเสียหาย 250 ล้านบาท ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หายไป 1.5% ส่งผลให้จีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.7% และเงินเฟ้อสูงถึง 4.5-5.5%

ส่วนกรณีแย่ระดับกลาง ที่ความขัดเแย้งจบใน 6 เดือน ความเสียหายจะอยู่ที่ 146,850 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.9% ส่งผลให้จีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 3.3% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5-4.5 % ขณะที่กรณีแย่น้อยสุด ความขัดแย้งจบใน 3 เดือน เศรษฐกิจไทยจะเสียหาย 73,425 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.5% ส่งผลให้จีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 3.7% และเงินเฟ้อสูง 3.0-3.5%

“สงครามเกิดผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทางตรงจะทำให้การส่งออกสินค้า รายได้จากนักท่องเที่ยว และรายได้จากการส่งแรงงานจาก 2 ประเทศลดลง แต่เพิ่มต้นทุนวัตถุดิบ เพราะต้องจัดหาจากแหล่

อื่นทดแทน ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม เช่น  ค่าเงินบาทผันผวน จากตลาดเงินโลกผันผวน  , อัตราเงินเฟ้อเพิ่ม ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสเพิ่มขึ้น 120 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น, ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ผู้ขายขึ้นราคาขายเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น , มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่อื่นๆ ชะลอตัวลง, เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรป มีโอกาสชะลอตัว และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตชิปจะกดดัน ให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยปี 65 ลดต่ำลงจากเดิม”

ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนก.พ. 65 พบว่า ดัชนีทุกรายการลดลงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนต.ค. 64 จากความกังวลใน 3 ปัจจัยหลัก คือ การแพร่ระบาดของโอมิครอน, สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงการที่ระดับราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยยังคงติดตามความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อ แม้ว่าค่าเงินรูเบิลจะอ่อนค่าลงมาก แต่เศรษฐกิจของรัสเซียก็ยังมีความเข้มแข็งมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัสเซียจะยังไม่ได้ใช้กำลังทางทหารอย่างเต็มที่ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีโอกาสในการเจรจาอยู่ แต่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจไทยย่อลงจากที่คาดการณ์ไว้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลยังสามารถตรึงราคาน้ำมันได้จนถึงเดือนมิ.ย.นี้ แต่ต้องเตรียมแผนรับมือล่วงหน้า เพราะสถานการณ์มีโอกาสยืดเยื้อสูง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อไปทั้งปี