“พาณิชย์” เจาะลึก 4 กลุ่มสินค้า ส่งออกดาวรุ่ง

  • อาหาร, สุขภาพ,ของใช้ในบ้าน, และยานยนต์
  • โตสวนกระแสโลก
  • แนะเอกชนไทยปรับตัว รับกระแส New Normal
  • หนุนลงทุนอุตสาหกรรมศักยภาพสูงหลังโควิด

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค. ได้ศึกษาวิเคราะห์สินค้าส่งออกไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกใน 9 เดือนแรกปีนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยสามปีที่ผ่านมา (2560 – 2562) สะท้อนว่าเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีความสามารถในการแข่งขัน เติบโตสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเป็นสินค้าที่ตอบรับกระแสนิวนอร์มอล แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม

“การส่งออกปีนี้เผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ ภัยแล้ง สงครามการค้า ค่าเงินบาท ไวรัสโควิด-19 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจโลกชะลอกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อีกทั้งพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป ทำให้สินค้าส่งออกที่เคยสร้างรายได้ให้ประเทศและสินค้าดาวรุ่งเดิมหลายรายการได้รับผลกระทบ” นางสาวพิมพ์ชนก

ทั้งนี้ที่ผ่านมาโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยกระจุกตัวในเทคโนโลยีดั้งเดิม ไม่สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต เป็นเรื่องท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือขับเคลื่อนพัฒนาให้ประเทศยกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความสะดวกในการทำธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพหลังโควิด

อย่างไรก็ตาม ไทยยังใช้ประโยชน์จากจุดแข็งสำคัญที่มีอยู่ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากการมีสินค้าส่งออกที่หลากหลาย ผู้ประกอบการไทยปรับตัวได้รวดเร็ว จากการมีพื้นฐานวัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งสามารถปรับกำลังการผลิต และผลิตสินค้ากลุ่มใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีนิวนอร์มอลได้

สำหรับสินค้า 4 กลุ่ม ประกอบด้วย สินค้ากลุ่มที่ 1 อาหาร และอาหารแปรรูป สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหารสดอาหารกระป๋อง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และน้ำผลไม้ อาหารสด ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 21.68% (ขยายตัวในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์) และหมูสดแช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 642.90% (ขยายตัวในฮ่องกง และเมียนมา)

อาหารกระป๋อง ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ขยายตัว 9.11% (ขยายตัวในสหรัฐฯ เปรู อียิปต์ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย) กุ้งกระป๋อง ขยายตัว 10.20% (ขยายตัวในสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เม็กซิโก สหราชอาณาจักร) ปลาหมึกกระป๋องขยายตัว 88.24% (ขยายตัวในญี่ปุ่น สหรัฐฯ กัมพูชา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน)

ข้าวโพดหวานกระป๋อง ขยายตัว 13.25% (ขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์สหรัฐฯ) หน่อไม้กระป๋อง ขยายตัว 37.76% (ขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดาออสเตรเลีย)

น้ำผลไม้ผสม ขยายตัว 25.13% (ขยายตัวในไต้หวัน กัมพูชา สหรัฐฯ จีน) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว4.02% (ขยายตัวในจีน สิงคโปร์ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา)

กลุ่มที่ 2 สินค้าป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด ได้แก่ ถุงมือยาง ขยายตัว 61.34% โดยขยายตัวสูงต่อเนื่องเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และจีน และสบู่ ขยายตัว 27.74% (ขยายตัวในออสเตรเลีย กลุ่มประเทศ CLMV และสหราชอาณาจักร)

กลุ่มที่ 3 สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและสำหรับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัว ได้แก่ ตู้เย็น (ขยายตัว 2.6% ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย) เตาอบไมโครเวฟ (ขยายตัว 32.06% ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา)

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ได้แก่ ลำโพง (ขยายตัว 81.53% ขยายตัวในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์) พัดลม(ขยายตัวร้อยละ 1.26 ขยายตัวในสหรัฐฯ จีน แคนาดา) คอมพิวเตอร์ (ขยายตัว 3.33% ขยายตัวในสหรัฐฯ จีน) และเฟอร์นิเจอร์ (ขยายตัว 11.83% ขยายตัวในสหรัฐฯ เวียดนาม เกาหลีใต้)

ส่วนกลุ่มที่ 4 ยานพาหนะ คือ รถจักรยานยนต์ (ขยายตัว 17.85% ขยายตัวในจีน ญี่ปุ่น เบลเยียม)

ทั้งนี้มั่นใจว่า ภาพรวมการส่งออกไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มควบคุมสถานการณ์ดี หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่ อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยหดตัวน้อยลง สะท้อนว่าธุรกิจมีการปรับตัว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค

“คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2563 จะหดตัวไม่เกิน -7.0% และจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2564” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว