พาณิชย์เล็งรื้อพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของต่างด้าว

.หลังบังคับใช้มาแล้วกว่า 10 ปีหวั่นกฎหมายล้าสมัย
.เปิดฟังความเห็นทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ 28 มิ.ย.-30 ก.ค.นี้
.มุ่งแก้นิยาม ”คนต่างด้าว”-ทุนขั้นต่ำ-ปลดล็อกธุรกิจแนบท้าย

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-30 ก.ค.นี้ กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่เข้ามาลงทุนในไทย และปกป้องธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันกับธุรกิจของคนต่างด้าว โดยประเด็นที่เปิดรับฟังความเห็น เช่น ความหมายของคำว่า “คนต่างด้าว”, จำนวนทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวใช้ในการประกอบธุรกิจ, การปลดล็อกธุรกิจในบัญชีท้าย และสร้างกลไกในการกำกับดูแล, อัตราส่วนทุนต่อเงินกู้ที่คนต่างด้าวสามารถกู้มาใช้ในการประกอบธุรกิจ, การกำกับดูแลคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจนอกบัญชี เป็นต้น

“สาเหตุที่ต้องเปิดรับฟังความเห็นเพราะ กฎหมายฉบับนี้ บังคับใช้มากว่า 20 ปีแล้ว อาจทำให้ตัวบทกฎหมาย ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งตรวจสอบเนื้อหาของกฎหมายให้มีระบบอนุมัติ/อนุญาตเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ พิจารณาระบบคณะกรรมการให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสม กระทัดรัด และการทบทวนโทษทางอาญา ให้มีเฉพาะในความผิดร้ายแรง เพื่อไม่ให้ผู้กระทำความผิดมีประวัติอาชญากรรม โดยจะนำความเห็นทั้งหมดมาใช้ประกอบการประเมินผลของกฎหมาย หากมีประเด็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง จะดำเนินการต่อไป”

สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นดังกล่าว เปิด 2 ช่องทาง คือ ออนไลน์และออฟไลน์ โดยช่องทางออนไลน์บุคคลทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็น ผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย http://lawtest.egov.go.th และเว็บไซต์กรม www.dbd.go.th ส่วนช่องทางทั่วไป กรมจะส่งหนังสือและแบบแสดงความคิดเห็นให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความคิดเห็น ลงในแบบฟอร์มที่กำหนด นอกจากนี้ กรมจะชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น ผ่านทางเฟซบุ๊ค ไลฟ์ ของกรมที่ DBD Bureau of Law ช่วงต้นเดือนก.ค.64

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็น คำนิยมของ “คนต่างด้าว” ที่ต้องทำให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะปัจจุบัน คำนิยามของคนต่างด้าว ไม่ได้รวมถึง อำนาจการครอบงำกิจการ และสิทธิในการออกเสียง ซึ่งคนต่างด้าวในธุรกิจที่ดำเนินการในไทยส่วนใหญ่ จะมีอำนาจครอบงำกิจการ และสิทธิการออกเสียงมากกว่าผู้ถือหุ้นคนไทย ทั้งๆ ที่ คนต่างด้าวสามารถถือหุ้นในธุุรกิจภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในไทยได้น้อยกว่าคนไทย คือ ไม่เกิน 49.99% ขณะที่คนไทยถือห้นได้เกิน 51% จึงทำให้ต่างด้าวสามารถครอบงำกิจการได้ และยังเป็นช่องโหว่ทำให้เกิดการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) เพื่อหลบเลี่ยงการทำธุรกิจที่ต้องขออนุญาตโดยไม่ต้องขออนุญาตอีกด้วย แต่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนี้ ต้องล้มเลิกไปทุกครั้ง หลังจากนักธุรกิจต่างด้าวในไทย โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ ล็อบบี้รัฐบาลไทยให้ล้มเลิก โดยอ้างว่า เป็นการปิดกั้นการลงทุน