พาณิชย์เตรียมพร้อมลุยฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

  • ผลศึกษาข้อดี-ข้อเสียพบไทยได้ประโยชน์มากมาย
  • จีดีพีเพิ่ม 1.28%-ส่งออกเพิ่ม 2.83% แต่นำเข้าก็เพิ่มตาม
  • เตรียมชง”จุรินทร์”ก่อนเสนอ”กนศ.-ครม.”เคาะฟื้นเจรจา

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ได้ว่าจ้างสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษานั้น เสร็จแล้ว  และได้นำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์กรม www.dtn.go.th แล้ว และจากนี้ กรมจะนำผลการศึกษาดังกล่าว ผลการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่กรมได้ดำเนินมาแล้ว และผลจากการหารือกรอบการเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้อง มาสรุปและเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติให้ไทยฟื้นการเจรจากับอียูต่อไป หลังจากเจรจากันมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 56-57 แต่ได้หยุดการเจรจาไป คาดว่า น่าจะเสนอครม.ได้ช่วงต้นปี 64  

สำหรับผลการศึกษา พบว่า  หากไทยและอียู 27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร และยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมด จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 205,000 ล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 216,000  ล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 209,000 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัว เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น 

ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล ที่จะทำให้นักลงทุนจากอียูเข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ในไทยมากขึ้นนั้น จะทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม และลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% หรือ 801,000 ล้านบาท อีกทั้งการที่เศรษฐกิจไทยดีขึ้น จะทำให้คนจนลดลง 270,000 คน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07% 

ขณะที่ประเด็นท้าทายสำคัญ เช่น การขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนวางตลาดยา การผูกขาดข้อมูลเพื่อขออนุมัติวางตลาดยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทางอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค และเมล็ดพันธุ์พืชสูงขึ้นนั้น ต้องนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปประเมินหักลบกับประโยชน์ที่จะเกิดกับรายได้ของเกษตรกร ปริมาณผลผลิตภาคเกษตร และทางเลือกในการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ในด้านการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ภาครัฐได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง แม้ธุรกิจภายในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น แต่คาดว่าไม่กระทบต่อ เอสเอ็มอี เพราะโครงการที่เอสเอ็มอีเข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่มีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเปิดให้มีการแข่งขันประมูล อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า มีผลกระทบกับไทยด้วย โดยเฉพาะในสินค้าน้ำตาล นม เป็นต้น แต่ในการเจรจา ไทยสามารถหาทางออกได้โดยไม่นำสินค้าอ่อนไหวมาลดภาษี หรือขอระยะเวลาในการปรับตัว เป็นต้น