พาณิชย์ลุยล้างบางขายของเถื่อนทางออนไลน์

  • จับมือ”ช้อปปี้-ลาซาด้า”เข้มงวดร้านค้าในแพลตฟอร์ม
  • ห้ามขายของละเมิด-เปิดช่องรับร้องเรียนจากเจ้าของสิทธิ์
  • เตรียมลงนามเอ็มโอยูยกระดับแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมได้หารือกับแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง เช่น ช้อปปี้ และลาซาด้า เพื่อขอให้เพิ่มความเข้มงวดกรณีมีผู้ฝากร้านขายสินค้าในแพลตฟอร์ม จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้มีกลไก หรือขั้นตอนในการรับแจ้งจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา หากพบการจำหน่ายสินค้าละเมิด และนำผู้ค้าสินค้าละเมิดออกจากแพลตฟอร์มของตน

นอกจากนี้ กรมยังได้จัดประชุมร่วมตัวแทนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญากว่า 10 ราย ที่ดูแลสินค้าแบรนด์เนมทั้งไทยและต่างประเทศ และเจ้าของแพลตฟอร์มช้อปปี้ และลาซาด้า เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือที่ชัดเจน และแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการดูแลไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรมได้ร่างบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการป้องปรามการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางอินเทอร์เน็ต หรือเอ็มโอยูระหว่างเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งขณะนี้ ได้ส่งร่างเอ็มโอยูดังกล่าวไปยังตัวแทนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และเจ้าของแพลตฟอร์มพิจารณาแล้ว 

“ขณะนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการพิจารณา หากสามารถตกลงร่วมกันได้ จะมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกันต่อไป ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสินค้าละเมิดทางออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์อีกทางหนึ่งด้วย”

สำหรับความร่วมมือกันครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะปัจจุบัน คนไทยนิยมซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทั้งผ่านเว็บไซต์ สื่อโซเชียล และตลาดกลางซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ แต่มีผู้ค้าบางรายนำเสนอขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น จนส่งผลให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้รับเสียหาย ดังนั้น กรมจึงต้องหารือร่วมกับเจ้าของแพลตฟอร์มให้มีกลไกในการแก้ปัญหานี้ เพราะหากยังปล่อยมีการขายสินค้าละเมิดอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเสียหายแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทยในภาพรวม ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชนผู้บริโภคที่มีต่อระบบการค้าขายออนไลน์ด้วย