พาณิชย์ประเมินสงครามการค้ารอบใหม่ส่งออกไทยกระทบน้อย

  • เหตุส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค
  • ไทยไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน
  • คาดสินค้าไทยส้มหล่นมีโอกาสส่งออกเพิ่ม

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีสหรัฐฯ เตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนล็อตใหม่ 10% ตั้งแต่ 1 ก.ย.62 ว่า การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ มีสินค้าจำนวน 3,812 รายการ โดยมี 7 รายการที่ซ้ำกับที่สหรัฐฯขึ้นภาษีไปครั้งก่อน 25% มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่บังคับใช้ไปแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนและยังไม่ได้จึ้นภาษี ครอบคลุมสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม) เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ และของเล่น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคสหรรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ยกเว้น สินค้าบางรายการ เช่น ยา และแร่ Rare Earth

“หากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีจริง ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไทยและผลกระทบทางอ้อมกรณีที่สินค้าไทยเป็นวัตถุดิบของจีน แล้วจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ประเมินว่ามีไม่มากนักเมื่อเทียบกับการขึ้นภาษีครั้งที่ผ่านมา และบางส่วนเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าสุทธิในปี 61 และปี 62 โดยกระทรวงพาณิชย์ จะติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่างใกล้ชิดต่อไป”

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีสินค้าที่ไทยสามารถแสวงหาโอกาสในการส่งออกเพิ่มได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐฯ กว่า 725 รายการ โดยเป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดและความสามารถทางการแข่งขันในรายสินค้าสูง และมีภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เช่น อาหารและเครื่องปรุงอาหาร (เครื่องเทศ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว พีนัท ถั่ว Pignolia น้ำตาลอ้อย), น้ำผลไม้, ขิง, ชาเขียว, เสื้อผ้าและผ้าผืน, รองเท้า, อุปกรณ์กีฬา, เครื่องประดับ (ไข่มุกและนาฬิกา) และของใช้ในบ้าน (เครื่องเซรามิค เครื่องแก้ว)

นอกจากนี้ จะติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างใกล้ชิดในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, อะลูมิเนียม, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เสื้อผ้า, รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ, เครื่องจักรไฟฟ้า, ทองแดง และเคมีภัณฑ์ เพื่อป้องกันการสินค้าไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภคแต่ก็ยังไม่พบการนำเข้าที่ผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา