พาณิชย์จับมือเอกชน เดินหน้าดันส่งออกไก่

  • หวังร่วมกันแปรวิกฤติโควิด-19ให้เป็นโอกาส
  • วางแผนรักษา8ตลาดเดิมขยาย19ตลาดใหม่
  • คาดดันยอดส่งออกเพิ่มไม่ต่ำกว่า3.3หมื่นล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เป็นต้น ว่าเพื่อประเมินสถานการณ์การผลิตและการส่งออก กำหนดแนวทางการบริหารการตลาด และการผลักดันการส่งออกสินค้าไก่ของไทย เพื่อร่วมกันพลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ในการทำรายได้ให้กับประเทศให้ได้มากที่สุด จึงต้องมาหารือร่วมกัน และพิจารณาดูว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรต่อไป

  สำหรับการส่งออก ภาคเอกชนเห็นว่า สามารถผลักดันให้มีเพิ่มขึ้นได้ โดยจะแบ่งการทำตลาดออกเป็น 2 ส่วน คือการรักษาตลาดเดิม 8 ประเทศที่นำเข้าไก่จากไทยอยู่แล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง ไอร์แลนด์แคนาดา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และขยายตลาดใหม่ 19 ประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดต่ำ เพราะนำเข้าจากคู่แข่งของไทยมากกว่า ได้แก่ สหรัฐฯ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ออสเตรีย สวีเดน อังกฤษ เยอรมนี ฮ่องกงซาอุดิอาระเบีย จีน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก อิรัก แองโกลา แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน

นอกจากนี้ ภาคเอกชนขอให้กระทรวงพาณิชย์เจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอระหว่างไทยสหภาพยุโรป (อียูและอังกฤษโดยเร็ว และขอให้เร่งเจรจากับอียู และอังกฤษ ภายหลังจากที่อังกฤษออกจากอียูแล้ว เพื่อเพิ่มโควตานำเข้าไก่จากไทยให้ไม่น้อยกว่าเดิมคือไม่ต่ำกว่าปีละ 280,000 ตัน หรือให้ได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 320,000 ตัน รวมทั้งให้เจรจาลดภาษีนำเข้านอกโควตาของอังกฤษจากกว่าตันละ 1,000 ยูโรลงมาอีก ส่วนญี่ปุ่น ต้องการให้ช่วยเปิดตลาดเพิ่มเติม ส่วนตลาดจีน ขอให้เร่งรัดให้ทางการจีนมาตรวจสอบโรงงานผลิตไก่แปรรูปของไทย เพราะการที่โรงงานไทยยังไม่ผ่านการตรวจสอบ ทำให้จีนยังไม่นำเข้าไก่แปรรูปจากไทย รวมถึงสร้างโอกาสในการส่งออกเป็ด เป็นต้น

ถ้าสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ คำนวณตัวเลขคร่าวๆ ไทยจะมีรายได้จากการส่งออกไก่สดแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นอีก 33,000 ล้านบาท จากปี 62 ที่ส่งออกได้มูลค่า 109,000 ล้านบาท  รวมเป็นทำรายได้เข้าประเทศกว่า 140,000 ล้านบาทได้” นายจุรินทร์ กล่าว