พาณิชย์จับคู่ช่วย “หมู-ข้าว” หวังดันราคาข้าว ลดต้นทุนอาหารหมู

.จับมือโรงสี สหกรณ์ เซ็นเอ็มโอยูกับผู้เลี้ยงหมู

.ซื้อข้าวเปลือกโลละ 8 บาท-ข้าวสารโลละ 11 บาท

.รวมกว่า 5 หมื่นตันมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) โครงการพาณิชย์จับคู่ช่วย “หมู-ข้าว” ปีการผลิต 64/65 ว่า โครงการนี้ ต้องการช่วยเหลือภาคเกษตร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวนา สหกรณ์ โรงสี ที่ขณะนี้ ราคาข้าวเปลือกยังอยู่ในระดับต่ำ และกลุ่มผู้เลี้ยงหมู ที่มีต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ จึงทำโคงการนี้ เพื่อต้องการให้กลุ่มชาวนา ขายผลผลิตได้ในราคาดีขึ้น และลดต้นทุนอาหารสัตว์ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงหมู

“โครงการนี้ จะเป็นโครงการตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่นำข้าวกับหมูมาชนกันอย่างเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่าย 1.เอาข้าวมาขายทำอาหารสัตว์ ในราคาที่เป็นธรรม หรือยกระดับราคาที่ดีกว่าการขายในตลาดปกติ 2.เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู สามารถนำข้าวคุณภาพอาหารสัตว์ราคาพิเศษ มาใช้ทำอาหารหมู เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง เป็นโครงการที่ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย”

สำหรับการลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ มีการซื้อขายกันทั้งหมด 50,199 ตัน เป็นผู้ขาย ซึ่งเป็นโรงสี 49,500 ตัน และสหกรณ์อีก 4 ราย 699 ตัน รวมมูลค่า 535 ล้านบาท ระยะเวลาส่งมอบตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.64 -28 ก.พ.65 โดยมีการซื้อขายกัน 2 ชนิด คือ ข้าวเปลือก ความชื้นไม่เกิน 15% กิโลกรัม (กก.) ละไม่ต่ำกว่า 8 บาท และข้าวสาร ประกอบด้วย ข้าวกล้อง ปลายข้าวคุณภาพอาหารสัตว์ และข้าวหัก ความชื้นไม่เกิน 15% กก.ละไม่ต่ำกว่า 11 บาท ซึ่งจะช่วยดึงราคาข้าวให้สูงขึ้นได้

“จริงๆ แล้ว ตั้งเป้าหมายการซื้อขายกันตามโครงการนี้มากกว่า 200,000 ตัน แต่เอาเข้าจริง ผู้ซื้อเยอะกว่าผู้ขาย เพราะตอนนี้ ราคาข้าวเริ่มขยับแล้ว ผู้ขายก็จะรอขายในตลาดแทน เลยตั้งเป้าหมายขายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 ตันสำหรับฤดูการผลิตปี 64/65 ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงราคาข้าวปลายฤดูให้ปรับขึ้นได้อีก”

สำหรับผู้ซื้อข้าว 5 ราย ประกอบด้วย 1.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จ.สุพรรณบุรี 2.ไทยรุ่งเรืองกิจการ นครปฐม 3.อาร์ เอ็ม ซี ฟาร์ม บุรีรัมย์ 4.จงเจริญฟาร์ม นครนายก 5.เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป นครปฐม

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า การช่วยซื้อข้าวในครั้งนี้ จะทำให้ผู้เลี้ยงหมูมีต้นทุนที่ลดลง 3-5% แม้ลดลงไม่ได้มาก แต่ถือว่า ได้ช่วยเหลือชาวนา และดีกว่าต้องซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่น ที่ราคายังสูงอยู่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ปลายข้าว ที่ราคาข้าวเปลือกลดลง แต่ราคาปลายข้าวไม่ลดลงตาม