พาณิชย์ขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอ 2 รายการล่าสุด

.ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่-เครื่องเคลือบเวียงกาหลง

.เหตุมีอัตลักษณ์เฉพาะผลิตได้เฉพาะท้องถิ่นเท่านั้น

.ยันช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า-ยกระดับรายได้ชุมชน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) อีก 2 รายการ ได้แก่ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ และเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ทำให้ปัจจุบัน ไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอแล้ว 141 รายการ จาก 77 จังหวัด ซึ่งการขึ้นทะเบียนจีไอ จะช่วยคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน มีการรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดคุณภาพของสินค้า และช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า สร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น  

สำหรับสินค้าทั้ง 2 รายการ มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน ปลูกในอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา พื้นที่ทุ่งหญ้าเขตร้อน มีมรสุมพัดผ่าน ทำให้อากาศชุ่มชื้น มีฝนตกชุก สภาพอากาศกลางวันร้อนกลางคืนเย็น จึงทำให้ธาตุอาหารโพแทสเซียม ที่สะสมอยู่ในเวลากลางคืนทำงานได้ดี ส่งผลให้ทุเรียนมีรสชาติดี

ส่วนเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ทนความร้อนสูง ผิวเรียบใส แต่ไม่มันเงา มีรอยแตกที่ผิวจากน้ำเคลือบ ดินที่ใช้ในการผลิต เป็นดินขาวเนื้อละเอียด มีความหนืดสูงคล้ายผงชอล์ค และดินดำเป็นดินที่อยู่ใต้ชั้นดินทราย สีดำแกมเทา มีความละเอียดสูง และมีทรายปนเล็กน้อย ซึ่งเป็นดินในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลง จ.เชียงรายหรือพื้นที่ข้างเคียงเท่านั้น ด้วยกรรมวิธีการเผา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีพื้นผิวสีเขียวอมฟ้า เขียวไข่กา หรือขาวอมเหลือง โดยมีการเขียนสีด้วยสีธรรมชาติ เป็นลวดลายเป็นเอกลักษณ์​

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชนในจังหวัดต่างๆ นำสินค้าของตนเองมาขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และยกระดับรายได้ของชุมชน รวมถึงยังส่งเสริมการควบคุมคุณภาพ ซึ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน และยังส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าจีไอไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และสร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน