พร้อมแจงวุฒิสภา “คลัง” จ่อส่ง กยศ. อธิบายทุกเม็ด ปมไม่เก็บดอกเบี้ยผู้กู้ยืม

  • ย้ำเน้นชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งสภาพคล่องกองทุนฯ
  • แนวโน้มความต้องการเงินกู้ กยศ. ความจำเป็นในการมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ
  • “อาคม” ลั่นเงินกู้ยืม กยศ. ถือเป็นเงินที่ผู้กู้ยังคงต้องมีวินัยในการชำระคืน เพื่อโอกาสขอเด็กรุ่นต่อไป
  • ด้านปลัดคลัง เผยกังวลเกี่ยวกับวินัยในการชำระหนี้คืน
  • ชี้อีกส่วนมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการ

วันนี้ (15 ก.ย.65) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. หรือ ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้ว ดังนั้นตนจึงไม่ขอออกความคิดเห็นใดๆ ทั้งนี้ ยังต้องรอกฎหมายออกมาก่อน โดยหลังจากนั้น กยศ. จะต้องวางแผนบริหารจัดการ ซึ่งจากเดิมที่จะมีรายได้เสริมสภาพคล่องจากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ โดยหากไม่มีเงินในส่วนนี้เข้ามา ก็จะต้องวางแผนบริหารในอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้กองทุนสามสามารถดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ แม้ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. จะผ่านสภาฯ แล้ว แต่ในขั้นตอนวุฒิสภา ยังสามารถไปชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ซึ่งทางกยศ. จะต้องไปรายงานข้อมูลทุกอย่างให้ทราบทั้งสภาพคล่อง รวมทั้งประเมินความต้องการกู้ยืมในอนาคต

“เงินกู้ยืมจาก กยศ. ยังถือเป็นเงินกู้ที่ผู้กู้ยังคงต้องมีวินัยในการชำระคืน ดังนั้นต่อให้มีหรือไม่มีดอกเบี้ย รวมถึงเบี้ยปรับ ผู้ที่กู้ยืมไปก็ต้องยังมีหน้าที่ชำระคืน” นายอาคม กล่าว 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้สื่อข่าวยังมีการสอบถามว่า สิ่งนี้จะมีผลสร้างความกังวลต่อภาระการคลังในอนาคตหรือไม่ นายอาคมกล่าวตอบว่า เนื่องจากที่ผ่านมา กยศ. บริหารจัดการและอยู่ได้ด้วยตนเองจากทุนหมุนเวียน โดยไม่ได้เป็นภาระของงบประมาณ ภาครัฐ ซึ่งโดยสรุปท้ายที่สุดก็กลับไปที่วินัยทางการเงิน ที่ผู้กู้ยืมจะต้องมีวินัยในการชำระหนี้ เพื่อให้เด็กรุ่นต่อไปได้มีโอกาสทางการศึกษา

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีความคิดเห็น 2 ประเด็น ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับวินัยในการชำระหนี้คืนของผู้กู้ และอีกส่วนมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งไม่ถือเป็นข้อขัดแย้งใดๆ

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า ดอกเบี้ยรวมถึงเบี้ยปรับของ กยศ. ที่ผ่านมาไม่ได้ถือเป็นกำไรของกองทุน แต่เป็นเงินที่นำมาใช้เพื่อการเสริมสภาพคล่อง เพื่อปล่อยกู้ให้รุ่นน้องต่อไป สิ่งที่ห่วงจากนี้คือเรื่องวินัยในการชำระหนี้

นอกจากนี้ ในส่วนของกังวลกรณีคืนเบี้ยปรับย้อนหลังหรือไม่นั้น ในส่วนนี้ยังต้องรอกฎหมายออกมาก่อน ซึ่งยังต้องรอการพิจารณาของวุฒิสภาฯ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ เพราะทางกระทรวงการคลัง ก็มีคนในกรรมาธิการที่ยังสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้

ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า หาก กยศ.ไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ก็อาจกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนฯ มีเงินหมุนเวียนลดลง โดยขณะนี้ แต่ละปีกองทุนฯ จะมีเงินจากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยที่ประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกนำมาใช้หมุนเวียนในการปล่อยกู้ให้กับนักเรียนนักศึกษานรุ่นต่อๆไป โดยที่กองทุนฯ ไม่ได้พึ่งพาเงินจากงบประมาณรัฐบาล มาตั้งปี 2561 

“ขณะนี้ สถานะของกองทุนฯ ยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่หลายหมื่นล้านบาท ซึ่งในปีล่าสุดกองทุนฯ ได้รับการเงินชำระคืนมาแล้วประมาณ 27,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันกองทุนฯ มีการปล่อยกู้อยู่ที่ 40,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการปล่อยกู้แบบไม่จำกัดโควต้า กล่าวคือหากใครผ่านเกณฑ์ กยศ. ก็จะให้กู้ทั้งหมด โดยมีต้นทุนในการปล่อยกู้จะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาทต่อปี” นายชัยณรงค์ กล่าว

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังต้องรอดูกฎหมายว่าจะออกมาในทิศทางไหน ซึ่งก็ต้องนำมาประเมินเงินที่มีอยู่ กับเงินที่จะเข้ามาต่อปีจากการชำระคืนเงินกู้ เพื่อวางแผนบริหารจัดการกองทุนฯต่อไป ซึ่งถ้าจะมองในแง่บวกให้ดีว่าหากไม่มีดอกเบี้ย ผู้กู้อาจอยากีบชำระเงินกู้คืนมากขึ้น เพื่อส่งต่อเงินให้กับรุ่นน้องก็เป็นไปได้

ทั้งนี้ กองทุนฯพร้อมเดินหน้าปล่อยกู้ให้กับรุ่นน้องต่อไป ส่วนแผนการปล่อยกู้ที่วางไว้แล้วก่อนหน้านั้น เมื่อกฎหมายใหม่ออกมาก็จะมีการทบทวนแผน และปรับแผนใหม่เพื่อเสนอขออนุมัติจากบอร์ด กยศ. อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ที่รัฐสภาฯเห็นชอบ จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 1 เดือน โดยขั้นตอนจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งจะมีคนของ กยศ. อยู่ในคณะกรรมาธิการด้วย ก็จะทำหน้าที่ในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งสภาพคล่องกองทุนฯ แนวโน้มความต้องการเงินกู้กยศ. ความจำเป็นในการมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เป็นต้น 

โดยหากวุฒิสภาเห็นชอบ ก็ถือว่าจบ ก็เข้าสู่กระบวนการออกกฎหมาย แต่หากวุฒิสภาไม่เห็นด้วย ก็จะถูกตีกลับมาที่สภาฯ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทั้ง 2 สภาฯ เพื่อพิจารณาร่วมกันอีกครั้งต่อไป

นายชัยณรงค์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการปล่อยกู้ของ กยศ. ล่าสุด (ณ วันที่ 29 ส.ค.65) มีการปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 6.28 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 702,309 ล้านบาท โดยมีการชำระเงินกู้คืนจนครบและปิดบัญชี แล้วกว่า 1.66 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 129,183 ล้านบาท เสียชีวิตและยกหนี้ให้จำนวนกว่า 6.7 หมื่นคน เป็นวงเงินกว่า 6,000 ล้าบาท อยู่ระหว่างเรียน 1 ล้านคน คิดเป็นวงเงินกว่า 1.14 แสนล้านบาท มียอดอยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้กว่า 3.5 ล้านคน คิดเป็นวงเงินกว่า4.52 แสนล้านบาท โดนในจำนวนนี้ผิดนัดชำระ 2.5 ล้านคน หรือประมาณ 90,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ทางกยศ. จะปล่อยกู้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี และได้รับชำระคืนประมาณ 30,000 ล้านต่อปี