พร้อมช่วยเอสเอ็มอี…SME D Bank ปักหมุดปี 66 ปล่อยสินเชื่อแตะ 8 หมื่นล้าน จัดเต็มหลากสินเชื่อช่วยเติมทุน

  • พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในด้านการเงินและการพัฒนา ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง
  • ลุยจัดวงเงินสินเชื่อ “SME D พร้อม” วงเงิน 10,000 ล้านบาท สนับสนุนลูกหนี้รีไฟแนนซ์ ให้ดอกเบี้ย 5.75%
  • สินเชื่อ SME Speed Up สนับสนุนเอสเอ็มอีรายเล็ก กู้สูงสุด 5 ล้านบาท เพื่อช่วยให้เริ่มต้นธุรกิจ

น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ SME D Bank เมื่อปี 2565 สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 68,800 ล้านบาท โตขึ้น 40% จากปี 2564 ที่ปล่อยสินเชื่อได้ 49,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการปล่อยสินเชื่อได้เติบโตมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมา ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงการคลังได้เปิดวงเงินสินเชื่อให้ SME D Bank สามารถปล่อยวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้นจากเดิม 15 ล้านบาท เพิ่มเป็น 50 ล้านบาท

น.ส.นารถนารี กล่าวต่อว่า สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2566 SME D Bank มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอยู่ที่80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 12,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารฯ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยให้เอสเอ็มอีต่อรายมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงมีการวางแผนทิศทางช่วยเอสเอ็มอีไว้ ทั้งการลดภาระอัตราดอกเบี้ย และการดำเนินงานต่างๆ 

ทั้งนี้ การให้สินเชื่อต่อรายของ SME D Bank ส่วนใหญ่วงเงินเฉลี่ยอยู่ที่รายละ 3-5 ล้านบาท แต่ปี 2565 ที่ผ่านมาหลังจากมีการขยายวงเงินปล่อยกู้ได้จาก 15 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อในวงเงินที่มากกว่า 15 ล้านบาท ได้ถึง 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปี 2566 ธนาคารฯ มีแผนจะขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง จำนวนประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ และพันธกิจของธนาคารฯ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านการเงินและการพัฒนา ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

น.ส.นารถนารี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ในปี 2558 ที่ SME D Bank ได้เข้าสู่แผนการฟื้นฟู ธนาคารฯ มี NPL สูงถึง 40,000 ล้านบาท โดยธนาคารฯ ได้มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องโดยหลังออกจากแผนฟื้นฟู ธนาคารฯ ได้มีการเพิ่มเติมการบริหารความเสี่ยง การเข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้า แนะนำลูกค้า จนทำให้หนี้เสีย ณ สิ้นปี 2565 ลดลงมาจาก 14% เหลือ 9.7% คิดเป็นวงเงินประมาณ 10,600 ล้านบาท

“จากสัดส่วน 9.7% นั้น แบ่งเป็นหนี้เก่าจากในอดีตที่ผ่านมาจำนวน 7,800 ล้านบาท จากเดิมมีสูงถึง 40,000 ล้านบาท และเป็นหนี้เสียใหม่ เพียง 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3% ซึ่งอยู่ใกล้เคียงในระบบของตลาด และธนาคารฯ มีแผนที่จะบริหารจัดการ NPL รวมกันแล้วให้อยู่ในระดับไม่เกิน 10% โดยปัจจุบัน ตัวเลข NPL ณ สิ้นเดือนก.พ.2566 อยู่ที่ประมาณ 10,800 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของพอร์ตสินเชื่อรวม”

น.ส.นารถนารี กล่าวด้วยว่า หลังจากธนาคารฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ก็พบว่า ปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายมีหนี้ที่กระจายอยู่หลายที่ และต้นทุนแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการบริหารจัดการหลังจากปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะมีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ ส่งผลให้ในปี 2566 SME D Bank จะจัดวงเงินสินเชื่อ “SME D พร้อม” วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการรีไฟแนนซ์มาไว้ที่ธนาคารฯ ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.75%  โดยสามารถผ่อนชำระได้นานถึง 15 ปี ได้วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้จัดวงเงินสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วงเงิน 5,000- 10,000 ล้านบาท หลังจากแนวโน้มในปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการจดทะเบียนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพิ่มจำนวนมาก ซึ่งก็ถึงเป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องเพื่อผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท 

รวมถึงธนาคารฯ ยังออกสินเชื่อสำหรับสิ่งแวดล้อม BCG เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีสภาพคล่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ผ่อนชำระนาน 15 ปี และเว้นการชำระหนี้เงินต้นนาน 2 ปี พร้อมให้วงเงินให้กู้สูงสุด 50 ล้านบาท 

นอกจากนี้ หลังจากมีการประเมินว่า ในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยสูงถึง 28 ล้านคนจากปี 2565 ที่ประมาณ 15 ล้านคน ธนาคารฯ จึงคิดจัดสินเชื่อ SME Speed Up วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี วงเงินให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจเนื่องด้วยส่วนใหญ่เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ จะใช้เงินทุนในการตั้งต้นธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาท ซึ่งก็จะช่วยให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้สามารถทำธุรกิจ รองรับภาคการท่องเที่ยวได้ทันเวลา

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ SME D Bank มีแผนที่จะโฟกัสกลุ่มเอสเอ็มอีกลุ่มเล็ก กลุ่ม BCG และกลุ่มก่อสร้าง ค้าปลีกค้า-ค้าส่ง บริการ และท่องเที่ยว ตามจังหวัดต่างๆ มากขึ้น โดยธนาคารฯ มีแหล่งทุนมาจากการออกพันธบัตร และใช้เงินฝากของสถาบัน โดยในปี 2566 หากการดำเนินการพัฒนาคอลแบงก์และโมบายสำเร็จ จะเริ่มให้บริการได้ในปี2568 ซึ่งก็จะส่งผลให้การบริการลูกค้ามีความสะดวก และเข้าถึงธนาคารฯ ได้รวดเร็วขึ้น