“พระราชินี” ทรงเยี่ยมชมร้านค้าในพระราชดำริ ทอดพระเนตรการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมาน

  • ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ผลิตตุ๊กตาวานรทั้ง 18 มงกุฏ
  • และตุ๊กตารูปยักษ์ในวรรณคดีรามเกียรติ์ มาขาย

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.63 เวลา 17.28 น.สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตร ร้าน ๑๐๙ ณ ศูนย์การค้าดิโอลด์สยาม พลาซ่า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และทอดพระเนตรการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมาน ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงศูนย์การค้าดิโอลด์สยาม พลาซ่า ทรงพระดำเนินเข้าภายในศูนย์การค้าทรงเยี่ยมชมร้าน ๑๐๙ ซึ่งตั้งอยู่บนเลขที่ ๑๐๙/๒/๗๖ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นางนฤมล ล้อมทอง ผู้จัดการร้าน ๑๐๙ หนึ่งศูนย์เก้า เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสินค้าของร้านและทอดพระเนตรสินค้าภายในร้าน โดยร้าน ๑๐๙ เปิดดำเนินการเมื่อ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2563 เป็นร้านในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยคณะกรรมการร้านขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปิดร้านขึ้นภายในศูนย์การค้าดิโอลด์สยาม บนเลขที่ S ๑๐๙/๒/๗๖ อันเป็นที่มาของชื่อร้าน หนึ่งศูนย์เก้า เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าจากร้านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ร้านจิตรลดา ให้มีความหลากหลายและเข้าถึงกลุ่มบุคคลต่างๆ มากขึ้น

ภายในร้านนอกจากจะมีการจำหน่ายสินค้าจากร้านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ร้านจิตรลดาแล้ว ยังมีสินค้าจากมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุงมาร่วมจำหน่ายด้วย อาทิ กระเป๋าป่านศรนารายณ์ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานคำแนะนำให้มีการนำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ด้านการจักสาน เพื่อเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง รวมทั้ง ผ้าพันคอ แก้วน้ำ จานชามเซรามิค ตุ๊กตาผ้า ผ้าฝ้ายพิมพ์ลาย เสื้อผ้าไหมตัดเย็บสำเร็จรูป ร่ม สินค้าที่ระลึก อาทิ กุญแจรูปหัวโขน แมกเนต เป็นต้น

ระหว่างทอดพระเนตรภายในร้าน ๑๐๙ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับการดำเนินงานภายในร้านความว่า 

“ควรผลิตตุ๊กตา KHON รูปหนุมานอันเป็นสินค้าที่ระลึกภายในร้าน ให้ครบทั้งวานร 18 มงกุฎ และผลิตตุ๊กตารูปยักษ์อันเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญในวรรณคดีรามเกียรติ์ มาจำหน่ายเพิ่มเพื่อให้ร้านมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นขึ้น ทั้งยังเป็นของขวัญและของฝากในเทศกาลสำคัญได้เป็นอย่างดี”

จากนั้น ประทับรถไฟฟ้าเสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาเฉลิมกรุง ทอดพระเนตรการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมาน ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินมีพสกนิกรในพื้นที่ใกล้เคียงต่างมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จเป็นจำนวนมาก ทรงแย้มพระสวรลโบกพระหัตถ์ทักทายราษฎร เมื่อเสด็จฯ ถึงศาลาเฉลิมกรุง นางเยาวลักษณ์ แพ่งสภา กรรมการบริษัท สหศีนิมา จำกัด เฝ้าฯ รับเสด็จและถวายพวงมาลัย นางนฤมล ล้อมทอง กราบบังคมทูลประวัติของโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ต่อมา เสด็จฯ เข้าโรงมหรสพหลวง ทอดพระเนตรการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมาน ทั้งหมด 6 องก์ ประกอบด้วย องก์ที่ 1 วานรอ่อนแรงด้วยสาปพระอุมา องก์ที่ 2 ถวายตัวเป็นข้าฯรับอาสาสืบหนทาง องก์ที่ 3 ล้างสหัสกุมาร องก์ที่ 4 ขุนทหารถมศิลาจับมัจฉาอรทัย องก์ที่ 5 กุมภัณฑ์พ่ายแพ้หนุมาน และองก์ที่ 6 ขุนทหารครองพารา

ภายหลังทอดพระเนตรการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมานจบแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานช่อดอกไม้แก่นักแสดง นักดนตรี นักพากย์ และผู้กำกับการแสดง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ร่วมกันสืบสานอนุรักษ์ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยไว้ให้อยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป ด้วยทรงมีพระราชปณิธานตั้งมั่นที่จะสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชเสาวณีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการอนุรักษ์โขนไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

สำหรับศาลาเฉลิมกรุงหรือโรงมหรสพพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยในโอกาสฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ประกอบกิจการ ด้านการแสดง ละคร ภาพยนตร์ และดนตรี จนประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับอันดีเยี่ยม จากประชาชนทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากบุคคลในวงการแสดงทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดกิจกรรมมหรสพครบทุกรูปแบบทั้งการแสดงหน้าม่าน ละคร ภาพยนตร์ โขน และดนตรี ให้ประชาชนได้ชมกัน

ศาลาเฉลิมกรุงจึงตระหนักถึงความสำคัญที่จะมุ่งมั่นอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันงดงาม และธำรงรักษา ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้คงอยู่ไว้สืบไป เพื่อให้ประชาชนได้รับชมการแสดงต่าง ๆ ที่มีคุณภาพครบทุกอรรถรส อีกประการหนึ่งเพื่อให้เป็นการ ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไทย อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นนโยบายหลักของศาลาเฉลิมกรุงอีกทางหนึ่ง