“พรรณิการ์” กระทู้สดถามมาตรการจัดการ “เฟคนิวส์” หวั่นเป็นเครื่องมือรัฐบาลจัดการผู้คนเห็นต่าง

  • รมว.ดีอี แจงใช้กฏหมายจัดการคนปล่อยข่าวปลอมในกทม.แล้ว 4 ราย

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ตั้งกระทู้ถามสดการมาตรการจัดการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวปลอม ใส่ร้ายป้ายสี สร้างความเกลียดชัง โดยระบุว่า เนื่องมาจากในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นหลายจุดในกรุงเทพฯ ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่อยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็กลับมามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่อ่อนไหวมากขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ แม้จะไม่ใช่เรื่องสมควร ที่จะมีผู้ฉวยโอกาส หยิบยกเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม มีการจับทฤษฎี เชื่อมโยง ใส่ร้ายป้ายสี ว่ามีบุคคล หรือองค์กรต่างๆ เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด หรือเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายต่อทั้งสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ในเรื่องการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกล่าวหาต่อพรรคเมืองยังพอทำเนา เพราะนักการเมืองหรือ พรรคการเมือง ยังมีสิทธิ์มีเสียงที่จะพูดในสภาหรือพูดออกสื่อมวลชน แต่ที่สำคัญอย่างมากคือ การใส่ร้ายป้ายสีประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปว่าพวกเขาเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุระเบิด เหตุก่อความไม่สงบต่างๆ และจากการที่ตนได้สอบถามพูดคุยกับบุคคลเหล่านี้ด้วยตัวเอง พบว่าพวกเขาได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวัน ถูกตั้งคำถามจากเพื่อนฝูง พี่น้อง คนใกล้ตัว เนื่องมาจากมีภาพของเขาปรากฏอยู่ทั่วไป เชื่อมโยงว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาที่มีความรุนแรงอย่างมาก เรื่องนี้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกกระทบ ในขณะเดียวกันในสถานการณ์อ่อนไหว รัฐบาลมีหน้าที่จะต้องบริหารสถานการณ์ไม่ให้มีการเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวปลอม อันจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หวาดระแวง เกลียดชังในหมู่สาธารณชน”

ดังนั้น เรื่องนี้จึงมีความสำคัญด้วยกันถึง 2 ประการด้วยกัน คือ หนึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บรรจุให้การปราบปราม ป้องปรามการแพร่ระบาดของข่าวลวง ข่าวปลอม เป็นหนึ่งในสิบสองวาระเร่งด่วนในการแถลงนโยบายของรัฐบาล และสอง.ให้มีการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปปธรรม โดยขับเคลื่อนผ่านรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จึงมีคำถามต่อรัฐมนตรีใน 3 ประเด็น คือ

  1. จากการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ได้ออกมากล่าวหลังเกิดเหตุการณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมงว่า กระทรวงจะตรวจสอบการเผยแพร่ข่าว กระบวนการใช้สื่อโซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ พร้อมระวังและติดตามการเผยแพร่ข่าวที่เกินความจริง ที่อาจทำให้สังคมตื่นตระหนกนั้น กระทรวงดำเนินมาตรการใดไปแล้วบ้าง ในการควบคุม จัดการการเผยแพร่ข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับเหตุระเบิด และเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว และที่จะปฏิบัติต่อไปในอนาคต
  2. หนึ่งในผู้ที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวที่ไม่เป็นจริง เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด และเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองเดียวกับรัฐมนตรี(พลังประชารัฐ) และนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมาปกป้อง ว่าอาจจะไม่ใช่คนเผยแพร่ข่าวปลอมเอง ซึ่งผู้เสียหายทั้งสองคนได้ดำเนินคดี แจ้งความตามกฎหมายแล้วและอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ตนได้ดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมแล้วเช่นกัน สำหรับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศอยู่ตอนนี้ จะจัดการอย่างไรกับกรณี
  3. สัปดาห์ที่ผ่านมา Reporter Without Borders เป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเสรีภาพสื่อ ได้จัดอันดับสิทธิเสรีภาพสื่อของโลก เป็นที่น่าตกใจประเทศไทยอยู่อันดับ 136 จาก 180 อันดับประเทศเราดีขึ้น4อันดับ แต่หากโฟกัสที่คะแนน จะพบว่าคะแนนลดลง 0.21 คะแนน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราดีขึ้นจากประเทศอื่นแย่ลง คะแนนของเราตกต่ำลง เป็นประเทศรั้งท้ายในอาเซียน รายงานของ Reporter Without Borders มีการพูดถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เพิ่งผ่านร่างไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ให้อำนาจรัฐมากขึ้นในการคุกคามข้อมูลข่าวสาร ที่ปรากฏทางออนไลน์

ในวาระที่ Fake News และการต่อต้าน Fake News เป็นวาระที่รัฐบาลทั่วโลกเผชิญอยู่ จะทำอย่างไรให้การปราบปราม Fake News ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ จะทำอย่างไร ให้ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในขณะเดียวกัน ปราบปราม วาทะยุยง สร้างความเกลียดชัง ส่งเสริมความรุนแรง และข้อมูลผิดกฎหมายต่างๆ อย่างได้ผล

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) จะทำอย่างไรให้การดำเนินงานปราบปราม Fake News ยุติการระบาดของ Fake News เป็นการดำเนินงานที่เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพจริง ไม่ละเมิดสิทธิประชาชน จะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อถือได้ จากกรณีของตนและพรรคอนาคตใหม่ ที่โดนพาดพิงเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเหตุระเบิด ในวิจารณญาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คิดว่าเป็น Fake News หรือไม่ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีนโยบายในการจัดการเรื่องนี้อย่างไร จะจัดการอย่างไรให้ ศูนย์ Fake News มีความยึดโยงกับประชาชน และเป็นกลางทำงานอย่างเที่ยงธรรมจริงๆ

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตอบว่า การเผยแพร่ข้อมูลช่วงเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ กทม. มีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม โดยข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯได้ดำเนินการกับผู้ปล่อยข่าวปลอมไปแล้ว 4 ราย ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งหลักการคือ ต้องเป็นเรื่องที่กระทบต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะไม่ต้องการให้มีการฟ้องร้องเรื่องส่วนบุคคล ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่าง ส.ส. 2 พรรคการเมือง ทราบว่า ได้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว

“ผมเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบในวงกว้าง และกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่มีอำนาจใช้กฎหมาย เพื่อลิดรอนสิทธิของบุคคลใด การบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ต้องใช้อย่างเคร่งครัดตามอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่ใช้เพื่อรังแกหรือปกป้องใคร”