ผ่อนหนี้อย่างไร ไม่ให้จิตตก 5 วิธีดูแลใจตนเองระหว่าง “ปรับโครงสร้างหนี้”

ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซาต่อเนื่อง รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม แต่ต้องผ่อนส่งหนี้เท่าเดิม แถมบางคนยังต้องกู้หนี้กู้สินเพิ่มเติมมาประทังชีวิต  ส่งผลให้หลายคนคิดมาก มีความเครียด วิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ น้ำหนักเพิ่ม ฯลฯ ซึ่งหากปล่อยให้เรื้อรังเนิ่นนาน อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต การทะเลาะเบาะแว้งกับคนใกล้ชิด ความบาดหมางในครอบครัว

ทั้งนี้ หากลูกหนี้ต้องการที่แก้หนี้ หรือลดหนี้ลงให้ได้จริงๆ  ทางออกยังจำเป็นต้องมีวินัยในการผ่อนส่งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เข้าไปเจรจาลดจำนวนผ่อนส่งรายเดือน ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือที่เรียกว่าเข้าไป “ปรับโครงสร้างหนี้” ไม่ใช่ความผิดหรือเรื่องที่ลูกหนี้จะต้องอับอายในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ตรงกันข้ามการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ อาจจะทำให้เรา “สบายใจมากขึ้น” เพราะทำให้เรายังผ่อนส่งต่อได้ โดยไม่ต้อง “เบี้ยวหนี้”

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นหนี้ หรือมีเงินน้อย เราก็ยังมีความสุขได้ ไม่ควรยึดติดความสุขของตัวเองไว้กับเงินทองหรือภาวะเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว 

วันนี้ เรามีแนงทางจากคำแนะนำ จาก “แบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศ” ซึ่งดูแลระบบการเงินของประเทศ ให้ปฏิบัติ 5 ข้อยามที่เราอยู่ระหว่างการแก้หนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เรามีกำลังใจสู้ต่อไปให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดนี้ไปได้ด้วยกัน

ดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ 

ก่อนที่เราจะมีแรงกาย แรงความคิด และกำลังใจหาเงินมาผ่อนหนี้ได้ เราต้องมีร่างกายที่แข็งแรงก่อน และเนื่องจากร่างกายและจิตใจเป็นส่วนที่สัมพันธ์กัน หากร่างกายแข็งแรงจิตใจก็แจ่มใสไปด้วย จิตใจเศร้าสร้อยร่างกายก็ไม่สบายไปด้วย

การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีแรงสู้ต่อไป และความท้อความไม่สบายใจลดลง

หาความสุขให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 

ถึงจะมีหนี้สินที่ต้องส่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องอมทุกข์ ไม่มีความสุข โดยอาจเป็นความสุขเล็กๆน้อยที่ไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายมาก และการมีเงินน้อยไม่ได้หมายถึงมีความสุขน้อยเสมอไป และแม้ว่าเราจะมีเงินมากแค่ไหนก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องมีความสุขเสมอไป ความสุขเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถสร้างขึ้นมาได้ แม้จะอยู่ในภาวะที่มีหนี้สินก็ยังควรอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขได้บ้าง

ให้จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นในทุกวัน

หากรู้สึกมี “ความเครียด”เกิดขึ้น  ให้รีบหาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอะไร และจัดการลดความเครียดที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด อยากให้เกิดความเครียดสะสม จนหาทางออกไม่ได้ ซึ่งการลดความเครียดอาจจะแตกต่างกันในแต่ละคน เช่น เดินออกกำลังกาย อ่านหนังสือดีๆ จัดบ้าน เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือพูดคุยกับคนที่เรารักและใกล้ชิด ดีไม่ดี เมื่อความเครียดลดลง คุณอาจจะจัดการกับปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ดีขึ้นด้วย

ปรับมุมมองในการเผชิญหน้ากับปัญหา 

เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนปัญหาที่เราเผชิญอยู่ได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อปัญหานั้นได้ หากเรามองปัญหานั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย เป็นความยากลำบากที่จะมอบคุณค่าให้กับชีวิตเมื่อฝ่าฟันไปจนสำเร็จ มีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การตั้งเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายในระยะสั้นๆ และการปลดหนี้สินในระยะยาว เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จเป็นช่วงๆ จะได้ไม่รู้สึกย่อท้อ

สร้างความสุขในครอบครัว 

หากครอบครัว มีความมั่นคง มีความรัก มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน  ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หรือโทษว่าหนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของคนนั้น คนนี้ ก็จะเป็นพลังสำคัญในการฝ่าฟันบททดสอบต่างๆของชีวิตไปได้   ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพจิตใจของตนเองและคนรอบข้างบ่อยๆ  เพราะเมื่อครอบครัวมีความสุข คุณก็จะมีความสุขและมีพลังที่จะทำงานใช้หนี้สินได้ด้วย

แต่หากเมื่อไร เรารู้สึกซึมเศร้า จิตตก หรือทางทางออกไม่ได้ การปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องน่าอาย หรือเป็นความผิด สามารถปรึกษาได้ตามโรงพยาบาลในเครือกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังสามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับคำแนะนำและความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป