ผู้ส่งออกไทยแห่ใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอส่งออก

.สร้างแต้มต่อหลังเศรษฐกิจโลกชะลอ-บาทแข็ง

.ดัน 2 เดือนส่งออกได้เฉียด 1.2 หมื่นล้านเหรียญฯ

.อาเซียนแชมป์ส่งออกสูงสุดตามด้วยอาเซียน-จีน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 66 ที่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอลง จนส่งผลต่อความต้องการซื้อสินค้าของหลายประเทศ ประกอบกับ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าไทย หันใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ รวม 12 ฉบับ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการคา และการส่งออกมากขึ้น โดยในช่วง 2 เดือน มีมูลค่าส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอกรอบต่างๆ รวม 11,819.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกสูงถึง 74.52%


โดยเอฟทีเอที่มีมูลค่าใช้สิทธิส่งออกสูงสุดคือ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน มูลค่า 4,685.08 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 72.86% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง เช่น ยานยนต์สำหรับขนส่งของ (น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน) น้ำตาล รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (1,500 – 3,000 ซีซี) น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัสอื่นๆ เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีเอฟทีเออาเซียน-จีน มูลค่า 2,860.90 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 86.53% สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง ทุเรียนสด สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ผลไม้สด (ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ฯลฯ) เป็นต้น, ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น มูลค่า 1,070 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 79.21% สินค้าที่ใช้สิทธิสูง เช่น เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่เย็นจนแข็ง เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ช กุ้งปรุงแต่ง กระสอบและถุงทำด้วยโพลิเมอร์ของเอทิลีน เป็นต้น


ขณะที่เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย 941.92 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 67.60% สินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด 2,500 ซีซี ขึ้นไปและขนาด 1,000 – 1,500 ซีซี ปลาทูน่าปรุงแต่ง เป็นต้น, เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย 821.98 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 66.61% สินค้าสำคัญ เช่น ลวดทองแดง เป็นต้น


ส่วนเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี 547.84 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 61.44%, เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ 465.20 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 33.38%, ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) มูลค่า 195.16 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 452.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า


“แม้การใช้สิทธิจะได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยยังคงสร้างข้อได้เปรียบทางการค้าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอกรอบต่างๆ ส่งออกสินค้า เพื่อลดต้นทุนการส่งออก ประกอบกับ ความต้องการซื้อสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่เปิดประเทศโควิด-19 คลี่คลาย”