ผู้ส่งออกไทยเฮ! อินดียลดภาษีตอบโต้การอุดหนุน

.เหลือจับเก็บอัตรา 3-5% จากเดิมเก็บ 20-25%
.ทำสินค้า Saturated Fatty Alcohols แข่งขันดีขึ้น
.หลังคู่แข่งทั้งอินโดนีเซีย-มาเลเซียยังถูกเก็บสูงลิ่ว

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.66 กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียได้ประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุด กรณีการไต่สวนการอุดหนุน สินค้า Saturated Fatty Alcohols ที่ส่งออกจาก 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยได้ลดอัตราจัดเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) ของไทยเหลือเพียง 3% สำหรับสินค้าที่ส่งออกจากบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกรายเดียวของไทย และ 5% หากในอนาคตมีผู้ส่งออกรายอื่นๆ ถูกอินเดียเรียกเก็บอากรซีวีดี
จากการประกาศผลไต่สวนขั้นต้น ที่เรียกเก็บจากไทย 20 – 25% ของราคา C.I.F (ค่าสินค้ารวมค่าประกันและค่าขนส่ง) ถือว่าเป็นอัตราต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย ที่ถูกเรียกเก็บ 14 – 30% และมาเลเซีย 3-11%


ทั้งนี้ อินเดีย ประกาศไต่สวนการอุดหนุนสินค้าดังกล่าวกับไทย เพราะเห็นว่า ไทยให้การอุดหนุนผู้ส่งออก ดังนั้น กรม ในนามตัวแทนของรัฐบาลไทย ได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ถูกกล่าวหาว่าให้การอุดหนุนกับผู้ส่งออก เช่น กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น แก้ต่างต่อรัฐบาลอินเดีย รวมถึงการทำข้อโต้แย้ง เพื่อเรียกร้องให้อินเดียไม่เรียกเก็บหรือเก็บอากรซีวีดีในอัตราต่ำลงตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ส่งออกไทย


นอกจากนี้ ยังมีหนังสือจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เน้นย้ำให้อินเดียปฏิบัติกับผู้ส่งออกไทยอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ไม่เช่นนั้นไทยจำเป็นต้องใช้สิทธิโต้แย้งกระบวนการไต่สวนของอินเดียต่อดับบลิวทีโอ


“จากผลของการดำเนินการดังกล่าวของกรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้อินเดีย ประกาศผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายโดยเรีกเก็บอากรซีวีดีจากไทยในอัตราต่ำลง ซึ่งจะทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันและเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดส่งออก ซึ่งในปี 65 ช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. อินเดียเป็นตลาดส่งออกสินค้าดังกล่าวอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน โดยมีมูลค่าส่งออก 6.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่อินเดียนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5 รองจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ และอินโดนีเซีย”


สำหรับสินค้า Saturated Fatty Alcohols ใช้เป็นสารตั้งต้นที่นำไปใช้เป็นสารลดแรงตึงผิว ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิตผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป นอกจากนี้ ยังนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสารทำละลาย สารแต่งรสแต่งกลิ่น ผงซักฟอก สารหล่อลื่น เครื่องสำอาง แชมพู สารช่วยให้พลาสติกอ่อนตัว สีทาบ้าน สารเคลือบสิ่งทอ เครื่องหนัง และหมึกพิมพ์