ผู้ว่าธปท.ห่วงผลกระทบดอกเบี้ยต่ำนาน ก่อปมธุรกิจแสวงหาผลตอบแทน กู้ลงทุนไม่ถนัด

  • นโยบายการเงินและการเงินต้องปรับให้สอดคล้อง
  • กับภาวะเศรษฐกิจการเงิน
  • พร้อมติดตามใกล้ชิด



วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวตอนหนึ่งในงาน “Meet the Press” ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และคาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการทางการเงินก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงิน และสมดุลความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น

จากเดิมที่ “ผ่อนปรนนโยบายมากกว่าปกติ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ เป็น “ทยอยปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ” (Normalize) เพื่อดูแลเงินเฟ้อ โดยเน้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด (Smooth take off)

อย่างไรก็ดี ผลจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อาจจะเกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) โดยจะเห็นว่าดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ถูกมาก และอัตราเงินเฟ้อที่สูง ทำให้ Real Yield ของธุรกิจรายใหญ่ต่ำสุดๆ ซึ่งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่น่ากังวล นอกจากบุคคลที่ฝากเงินได้ผลตอบแทนน้อยก็หันไปลงทุนในตลาดอื่นๆ เช่น คริปโตเคอเรนซี่ เป็นต้น ในแง่เสถียรภาพต่อระบบไม่ได้น่าห่วงอะไรขนาดนั้น

สิ่งที่น่าห่วงกว่า คือ Corporate Search for Yield เพราะต้นทุนการกู้ยืมของ Corporate ต่ำมาก โดยมีการกู้และไปทำในสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจหลัก (Core Business) ซึ่งจะเห็นช่วงหลังๆ ธุรกิจรายใหญ่ไปทำธุรกิจอื่นๆ เช่น เรียลเอสเตท หรืออื่นๆ เป็นต้น อันนี้เห็นชัดเจนว่าเป็นผลข้างเคียงที่ดอกเบี้ยต่ำนานไปมันไม่ดี และเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

“เราเห็นสัญญาณมาสักพักไม่ใช่วันนี้ ซึ่งเราก็มอนิเตอร์ใกล้ชิด และดูแบบ Prudential ตามความเสี่ยง และแบงก์เองก็มีหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit) อยู่แล้วในการปล่อยสินเชื่อ แต่สิ่งที่เราต้องไปดูคือต้นตอของปัญหา และจะต้องไปแก้ที่ต้นตอที่ทำให้เกิดพฤติกรรม Search for Yield นั่นก็คือ การที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานจนเกินไป ทำให้เกิดผลข้างเคียง”