ผู้ประกันตนได้แต่กัดฟันอดทนรอ!เงินชดเชยว่างงาน หลังประกันสังคมทำงานอืด

  • ลงทะเบียนออนไลน์ไม่ลิงค์กับระบบ
  • กฏกระทรวงจ่ายให้ 62% ยังไม่ประกาศใช้

นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี และที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ภายหลังผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้ลงนามในคำสั่ง คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีที่ 9/2563 ให้ปิดโรงแรมในพื้นที่ ทำให้ลูกจ้างของโรงแรมใน จ.ชลบุรี โดยเฉพาะในเมืองพัทยา ที่ปิดกิจการชั่วคราวสามารถรับเงินชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคมได้ อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ยังไม่มีลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือเลย เนื่องจากต้องรอประกาศกฏกระทรวงแรงงานเรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ลงในราชกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายสัปดาห์นี้ โดยลูกจ้างกลุ่มนี้จะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 5,580-9300 บาท หรือ 62% ของเพดานเงินที่ส่งเข้ากองทุนประกันสังคม

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการลงทะเบียนเพื่อรับเงินทดแทนการว่างงานพบปัญหามาก เนื่องจากกระทรวงแรงงานแจ้งให้ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น โดยผู้ประกันตนไม่ต้องไปรายงานตัวต่อสำนักจัดหางาน เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด แต่ในทางปฏิบัติพบว่าระบบที่ให้ลงทะเบียนไม่ลิงค์กับระบบของสำนักงานประกันสังคม ทำให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานแรงงานจังหวัดต้องพิมพ์เอกสารที่ผู้ประกันตนกรอกเข้ามาเป็นเอกสารแล้วมานั่งกรอกใหม่อีกที ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความล่าช้า

ส่วนมติ ครม. ได้อนุมัติให้ลดการจ่ายเงินสมทบเหลือนายจ้าง 4%ลูกจ้าง 1% มีผลย้อนหลังในงวดเดือน มี.ค.2563 โดยขยายระยะเวลาการยื่นเงินสมทบ เป็นภายในระยะเวลา 3 เดือนหรือภายในวันที่ 15 กค. 2563 ขณะนี้ประกาศกระทรวงแรงงานได้ออกมาบังคับใช้แล้ว นอกจากนี้ ได้รับแจ้งจากแรงงานจังหวัดว่าหากยังได้รับค่าจ้าง หรือ มีการรายงานรายได้ ต่อทางประกันสังคมจะไม่ได้รับเงินชดเชย และกรณีเงินเดือนตัดรอบไม่ตรงกับวันที่ปิดกิจการให้ยึดการจ่ายตามวันที่เปิดดำเนินการจริง และจ่ายค่าจ้างถึงวันทำงานจริง โดยประกันสังคมจะจ่ายชดเชยให้หลังจากวันที่ปิดกิจการและไม่ได้ค่าจ้าง ส่วนกรณีนายจ้างสถานประกอบการที่ประสงค์จะให้เงินพนักงาน ช่วยเหลือเพิ่มเติมในกรณีที่หยุดกิจการชาวคราว ไม่ต้องให้รายงานเป็นค่าจ้าง ให้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือ ซึ่งไม่ต้องจ่ายประกันสังคม และพนักงานยังมีสิทธิ์ได้รับงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคมอยู่

ทั้งนี้โรงแรมในเมืองพัทยามีร่วม 2,000 แห่ง กว่า 200,000 ห้อง ที่ปิดกิจการชั่วคราวแล้วมีประมาณ 90% ส่วนอีก 10% ได้แจ้งต่ออำเภอขอเปิดต่อ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก และอพาร์ตเมนต์ ที่มีลูกค้ารายเดือนเข้าพักอยู่