ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบประกันสังคมเหลือเดือนละไม่เกิน 75 บาท

  • ครม.ปรับลดให้เหลือนำส่งแค่ 0.5% ในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้
  • ไฟเขียวชาวลาว เมียนมา กัมพูชา 500 คนในสถานที่กักกันทำงานต่อในไทยได้ 2 ปี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนก.พ.- มี.ค. 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 0.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิมที่ลดให้เหลือ 3 % ของค่าจ้างผู้ประกันตน ทำให้ผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายสูงสุดอยู่ที่ 75 บาทต่อเดือน ส่วนฝ่ายนายจ้างให้คงอัตราเดิมโดยส่งเงินสมทบ 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน รัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม 2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ด้านผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมที่จ่ายอัตรา 278 บาทต่อเดือนให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,387 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน นำเงินสมทบที่ลดลง ไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ลดเหลือ 3% และเดือนก.พ.- มี.ค. ที่ลดเหลือ 0.5% จำนวน 23,119 ล้านบาท ลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น

ทั้งนี้ การลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลงจำนวน 7,166 ล้านบาท และหากรวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่หนึ่งตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.2563 ครั้งที่สองตั้งแต่เดือนก.ย.ถึงพ.ย.2563 และการลดอัตราเงินสมทบปัจจุบันตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค. 2564 เงินสมทบทั้งหมดรวมกัน 9 เดือนจะลดลงประมาณ 68,669 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ถูกกักตัวอยู่ 500 คนระหว่างรอส่งกลับประเทศต้นทาง แต่ปรากฏว่าประเทศต้นทางยังไม่ต้องการรับกลับ ทำให้ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเดือนละ 2 ล้านบาท ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบให้คนต่างด้าว 500 คนดังกล่าวสามารถทำงานในประเทศไทยได้จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566