ผลสำรวจภาคธุรกิจ ธปท. ชี้ชัด : สินค้าขึ้นราคาแน่!

เชื่อว่าในขณะนี้ ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ราคาเนื้อสัตว์หลายๆประเภทที่แพงขึ้น เหล่านี้ กำลังเป็นปัญหาที่กระทบการดำรงชีพของคยไทยจำนวนมาก จาก “ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ผลิตสินค้าบางรายการที่ตัดสินใจเพิ่มราคาขายสินค้าของตนเองไปแล้ว บางรายให้วิธีลดไซส์ลดปริมาณลง ขณะที่สินค้าอีกหลายรายการกำลังเตรียมที่จะขึ้นราคา หลังจากกัดฟันตรึงราคามาแล้วพักใหญ่

สินค้าที่ปรับขึ้นราคาไปแล้วชัดเจน ได้แก่ ราคาอาหารปรุงสำเร็จ ทั้งที่ขายขึ้นห้าง และขายกันตามตลาด ต่างพากันขึ้นราคากันเมนูละ 5 บาท 10 บาท ขณะที่เครื่องปรุงอาหาร น้ำมันพืช ก็ปรับราคาขึ้นเช่นกัน  ขณะที่ที่มีข่าวออกมาต่อเนื่องว่า หลังจากราคาสินค้าก๊อกแรกหลายๆ ตัวเพิ่มขึ้นไปแล้ว เรายังต้องเผชิญกับ “ก๊อก 2” โดยสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายรายการจะขึ้นราคาตามมาในช่วง 1-3 เดือนนี้

เห็นได้จาก “กระทรวงพาณิชย์” ในฐานะกระทรวงที่ดูแล “ราคาสินค้า”โดยตรง ได้เริ่มก็ออกมา “ปูพื้น” ให้ประชาชนเข้าใจบ้างแล้วถึง “ต้นทุนการผลิตสินค้า” ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้ง ราคาอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ราคาสูงขึ้นทันที จากผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก

หมายความง่ายๆ ว่า เมื่อ “ต้นทุน” เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง การยอมให้ผู้ประกอบารปรับขึ้นราคาสินค้า ย่อมเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก” 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา  ธปท.ได้มีการผลสำรวจภาคธุรกิจเกี่ยวกับการปรับราคาสินค้าและบริการ ซึ่งผลสำรวจล่าสุดของ ธปท. พบว่าตั้งแต่ปี 2564-ก.พ 2565 ซึ่งเป็น แม้ว่าช่วงที่ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ธุรกิจในภาคการผลิต และภาคบริการ ส่วนใหญ่มากกว่า 50% ยังไม่มีการปรับราคาสินค้า 

โดยพบว่า ผู้ประกอบการในภาคการผลิต ขึ้นราคาสินค้าแล้ว 32% อีก 13% ขณะนี้ยังไม่ปรับขึ้น แต่มีแนวโน้มจะขึ้นราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า ส่วนที่เหลืออีก 55% ยังไม่ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้  

ขณะที่ความเห็นของผู้ประกอบการในภาคบริการ พบว่า มีสินค้าที่ขึ้นราคาแล้ว 15% ขณะที่ อีก 13% ขณะนี้ยังไม่ปรับขึ้น แต่มีแนวโน้มจะขึ้นราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า ส่วน 72% ที่เหลือยังไม่ขึ้นราคา 

ส่วนผลสำรวจของผู้ประกอบการภาคการค้า พบว่า เป็นกลุ่มที่ขึ้นราคาสินค้าไปแล้วมากที่สุด 31% และอีก 35% แม้ขณะนี้ยังไม่ปรับขึ้น แต่มีแนวโน้มจะขึ้นราคาสินค้าในอนาคต ขณะที่ 35% สุดท้ายยังไม่ขึ้นราคา

และหากพิจารณาในเชิงขนาดของธุรกิจ พบว่า จะ 26% ของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ได้ขึ้นราคาสินค้าไปแล้ว อีก 15% มีแนวโน้มที่จะขึ้นราคาใน 3 เดือนนี้ และอีก 58% ยังไม่ขึ้นราคาสินค้าใน 12 เดือนข้างหน้า  

ขณะที่ สินค้าที่ผลิตโดย SME ขึ้นราคาไปแล้ว 27% ขณะที่อีก 19% จ่อขึ้นราคาในอนาคต อย่างไรก็ตาม SME อีกมากกว่าครึ่งหรือ 54% ยัง ไม่มีการปรับราคาและไม่มีแนวโน้มจะปรับใน 12 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการที่คาดว่าจะทยอยปรับราคาได้ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนข้างหน้าไปจนถึงปลายปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SME ที่แบกรับต้นทุนได้น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดย SME ส่วนมากคาดว่าจะแบกรับต้นทุนโดยไม่ปรับราคาได้อีกเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น 

และปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ต้องปรับราคา คือ ต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนขนส่ง หากประเมินจากประเภทธุรกิจ พบว่าธุรกิจในภาคการผลิตและการค้ามีโอกาสปรับราคาได้มากกว่าภาคบริการ

สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการตั้งราคาในปี 2561 ที่สะท้อนว่าภาคการผลิตและภาคการค้าสามารถปรับราคาสินค้าได้ถี่กว่า อาทิ ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมและพลาสติกซึ่งสินค้ามีความเกี่ยวเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับราคาได้เป็นรายเดือน 

ขณะที่ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์และ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงภาคการค้า ส่วนใหญ่ปรับราคาได้เป็นรายไตรมาสถึงครึ่งปี ในขณะที่ธุรกิจภาคบริการ อาทิ ก่อสร้างและอสังหาฯ โรงแรม ร้านอาหารและขนส่งมีความถี่ในการปรับราคาสินค้าและบริการเป็นรายปี

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา แม้ธุรกิจส่วนใหญ่คาดว่าจะยังไม่ปรับราคาสินค้าและบริการ แต่ก็ใช้วิธีอื่นแทนการปรับราคา เช่น ลดโปรโมชั่น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ธปท.ให้จับตาความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจกดดันให้ผู้ประกอบการปรับเพิ่มราคาสินค้าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

โดยจากการสำรวจผู้ประกอบการล่าสุด ธปท.พบว่า กลุ่มปิโตรเคมี พลาสติก กลุ่มผู้ผลิตอาหาร  และกลุ่มอาหารทะเลมีโอกาสที่จะปรับขึ้นาราคาสินค้า ภายใน 1 เดือนจากนี้ โดยเป็นการปรับราคาตามราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์มที่สูงขึ้น ขณะที่ กลุ่มอาหารทะเล มาผลจากผลิตที่เริ่มขาดแคลน

ขณะที่ ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงภาคค้าปลีกค้าส่ง ยอมรับว่า มีการเตรียมพร้อมที่จะทยอยขึ้นราคาในช่วง 3-6 เดือนจากนี้ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคก่อสร้าง ใช้วิธี ปรับราคาเมื่อมีโครงการใหม่

ส่วนผู้ผลิตที่ยังไม่ปรับในช่วง 12 เดือนนี้ ได้แก่ ผู้ผลิตรถยนต์ และจักรยานยนต์ แต่อาจะสามารถปรับขึ้นได้บ้างกรณีออกรุ่นใหม่ ขณะที่ภาคการขนส่งสินค้า มีการบริหารควบคุมราคาโดยภาครัฐทำให้ราคายังไม่ปรับขึ้น

อีกภาคที่ยังไม่ปรับขึ้นราคา คือ โรงแรมที่พัก และร้านอาหาร เพราะขณะนี้กำลังซื้อยังต่ำ ต้องเน้นทำราคา ปรับลดต้นทุนแรงงาน เพื่อเรียกลูกค้า และประคองตัว แต่คาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้ปรับสามารถปรับขึ้นราคาได้

ทั้งหมดนี้ แปลว่า คนไทยจำนวนมากจะต้องเร่ง “ปรับการดำเนินชีวิต” ลดการใช้จ่าย และหรือหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยับขึ้นของราคาสินค้าจำนวนมาก ที่ยังปรับเพิ่มขึ้นภายในปีนี้ 

โดยหวังว่า เศรษฐกิจไทยจะยังรอดพ้นจากการระบาดของโควิดขั้นร้ายแรง ยังสามารถที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง มีการเปิดให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นๆ รวมทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัว รวมทั้ง หวังว่ารัฐบาลจะยังมีโครงการลดภาระการใช้จ่ายของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง

เพราะจากผลการสำรวจของ ธปท.แสดงให้เห็นว่า โอกาสที่ “สินค้าอุปโภคบริโภค” จะปรับราคาในช่วงต่อไปนั้นไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายและหลายๆ รายการอาจจะเพิ่มขึ้นราคาเร็วและแรงขึ้นกว่าที่เราคิด

ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้จำนวน “รายได้” ของคนไทย และ “รายจ่าย” แตกต่างกันมากขึ้น  และจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายการบริโภค การฟื้นเศรษฐกิจ วิ่งวนกันเป็นวงจร  ณ วันนี้ การกลับมาเปิดเศรษฐกิจ เร่งการส่งออก และรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเป็นมาตรการสำคัญๆ ที่รัฐบาลต้องเร่งทำเพื่อตัด “วงจร”ความซบเซาเหล่านี้

ไม่เช่นนั้น ผลจากโควิด และราคาสินค้าที่แพงขึ้น จะสร้าง การหยุดชะงัก และซบเซาให้เศรษฐกิจไทยไปอีกหลายปี