ปี 65 เงินเฟ้อขยายตัว 6.08% สูงสุดรอบ 24ปี

.ผลพวงราคาพลังงานพุ่งดันราคาแก๊ส ไฟฟ้าพุ่งตาม
.ทำเดือนธ.ค.65ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายทะลุ 1.8 หมื่นบาท
.ปี 66 คาดโต 2-3% ชะลอลงตามราคาพลังงาน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธ.ค.65 เท่ากับ 107.86 เทียบกับเดือนพ.ย.65 ลดลง 0.06% แต่เทียบกับเดือนธ.ค.64 เพิ่มขึ้น 5.89% ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 65 เพิ่มขึ้น 6.08% เทียบกับปี 64 ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 5.5-6.5% ค่ากลาง 6.0% โดยเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี นับจากปี 41 ที่เคยขึ้นไปสูงถึง 8.1% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.65 และเพิ่มขึ้น 3.23% เทียบกับเดือนธ.ค.64 ส่วนเฉลี่ย 12 เดือน เพิ่ม 2.51%


“อัตราเงินเฟ้อปี 65 ที่เพิ่มขึ้น 6.08% มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ หรือราคาพลังงานทั้งปี 65 ที่เพิ่มขึ้นถึง 23.93% มีส่วนทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2% อีก 1% เพิ่มขึ้นจากราคาเนื้อสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู, ส่วนอีก 1% มาจากราคาอาหารสำเร็จรูป ทั้งบริโภคในบ้านและนอกบ้าน, และอีก 1% มาจากค่ากระแสไฟฟ้า ส่วนที่เหลืออีก 1.08% มาจากสินค้าอื่นๆ”


ทั้งนี้ จากราคาพลังงาน และสินค้าต่างๆ สูงขึ้น ส่งผลให้เดือนธ.ค.65 ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงถึง 18,136 บาท ลดลง 10 บาทจากเดือนพ.ย.65 โดยรายจ่ายสูงสุดเป็นค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,202 บาท ตามด้วยค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 4,018 บาท, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ 1,763 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน 1,627 บาท อาหารบริโภคนอกบ้าน อาหารตามสั่ง 1,248 บาท, ผักและผลไม้ 1,034 บาท, ค่าแพทย์ ยา 978 บาท เป็นต้น


นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 66 ว่า ไตรมาสแรกจะยังเพิ่มขึ้น แต่จะชะลอตัวจากช่วงปลายปี 65 และค่อยๆ ลดลงตั้งแต่เดือนเม.ย.66 เป็นต้นไป เพราะสินค้าส่วนใหญ่ทรงตัวและราคาเริ่มปรับลดลง ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ และฐานไตรมาสแรกปี 65 ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล การกำกับดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์


แต่มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เช่น การขึ้นค่าไฟฟ้า การปรับค่าจ้างทั้งระบบ เงินบาทที่ยังผันผวน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่จะกระทบต่อสินค้าและบริการในบางกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา เช่น ความผันผวนสินค้าโภคภัณฑ์จากความเสี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศแปรปรวน การระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดในสัตว์ ที่จะต้องติดตามใกล้ชิด


“เงินเฟ้อปี 66 จะปรับขึ้นจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ปรับขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเหมือนปี 65 เพราะการท่องเที่ยวฟื้นแล้ว ยิ่งจีนเปิดประเทศ จะยิ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น และมีผลทำให้ราคาสินค้าและบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าโรงแรมที่พักต่างๆ ค่าเดินทาง รวมถึงทำให้โรงแรม ที่พักต่างๆ มีค่าไฟฟ้าสูงขึ้น จากการใช้ไฟมากขึ้นของนักท่องเที่ยว และยังมีการปรับขึ้นค่าแรงทั้งระบบ และการปรับขึ้นค่าไฟเดือนม.ค.65 จึงคาดว่า ปี 66 เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.0-3.0% มีค่ากลาง 2.5% น่าจะต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับจากปี 56 เงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 2.18%”


อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อปี 66 ที่คาดขยายตัว 2.5% ไม่น่ามีผลกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะยังขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจที่ปี 66 คาดเติบโต 3.0-4.0% ส่วนการที่เงินเฟ้อชะลอลง จะมีผลทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของกนง.