ปี 65 ราคาอาหารจ่อปรับขึ้นทั่วโลก

.เอกชนชี้เหตุต้นทุนผลิตทะยานขึ้นยกแผง
.ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน เหล็ก สินค้าเกษตร ค่าระวางเรือ
.ผู้ผลิตกระอัก”พาณิชย์”ขอร่วมมือตรึงราคาขาย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปี 65 จะเห็นการปรับฐานครั้งยิ่งใหญ่ของราคาอาหารในทั่วโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทย เพราะต้นทุนต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งน้ำมันดิบ ที่มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ อาจปรับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, ถ่านหิน, โลหะต่างๆ ทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม ฟอยล์ ที่เป็นวัตถุดิบทำบรรจุภัณฑ์ หรือทินเพลต ที่ทำกระป๋องบรรจุอาหาร ซึ่งราคาจนถึงขณะนี้ปรับขึ้นไปถึง 90% แล้ว, ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตร รวมถึงค่าระวางเรือ ที่ตั้งแต่ปี 63 จนถึงขณะนี้ ราคาปรับขึ้นไปหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่า ที่แม้ส่งผลดีต่อการส่งออก ทำให้ราคาสินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น เพิ่มยอดส่งออกของประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ทำให้การนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบต่างๆ มีราคาแพงขึ้นด้วย

“วันนี้ถามว่า ต้นทุนปรับขึ้นเท่าไร ตอบไม่ได้ แต่ปรับขึ้นยกแผง รวมถึงค่าแรง ที่แม้ยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ค่าแรงปรับขึ้นอัตโนมัติ เพราะผู้ประกอบการ มีค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้นจากการควบคุม และป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนแฝง ที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปของไทย ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือตรึงราคาไว้ ไม่รู้ว่าจะตรึงได้นานแค่ไหน ถ้าตรึงไม่ไหว ก็คงต้องคุยกัน แต่ราคาที่เราจะปรับขึ้น กระทรวงพาณิชย์จะรับไหวแค่ไหน ไม่รู้”

อย่างไรก็ตาม การจะปรับขึ้นราคาขายสินค้าในประเทศ จะคำนึงถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพราะหากปรับขึ้นราคาสูงเกินไป แต่กำลังซื้อยังไม่มี ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบเอง อาจทำให้ขายสินค้าไม่ได้ คนไม่ซื้อ แต่จนถึงขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาขายอยู่

สำหรับวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ที่ขาดแคลน หรือในประเทศผลิตได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ เสนอให้รัฐบาลพิจารณาอนุญาตให้นำเข้า เพื่อให้มีวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเพื่อส่งออก และเพิ่มยอดส่งออกของไทย อย่างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากเอลกวาดอร์ มาผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เพิ่มยอดส่งออกกุ้งแปรรูปได้ รวมถึงเสนอให้ลดภาษีนำเข้า ที่เป็นต้นทุนของผู้ผลิตด้วย

นายพจน์ กล่าวต่อถึงแนวโน้มการส่งออกอาหารของไทย ที่ไม่รวมอาหารสัตว์เลี้ยง ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และมันเส้น ปี 65 ว่า คาดจะมีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่ม 8.4% จากปี 64 หากเป็นไปตามคาด จะเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจ, ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัวหลังความกังวลโควิด-19 และเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อความสามารถการแข่งขันด้านราคา แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เงินเฟ้อทั่วโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ต้นทุนด้านต่างๆ สูงขึ้นมาก ขณะที่ปี 64 มีมูลค่า 1.107 ล้านล้านบาท เพิ่ม 11.8%

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ต้นทุนการผลิตอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้ผลิตยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาขายในประเทศ เพราะกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือตรึงราคาไว้ ประกอบกับ กำลังซื้อคนไทยยังน้อยอยู่ ขณะนี้ ทำได้แค่ประคองต้นทุนให้ยาวที่สุด แต่ต้องการให้รัฐบาล ช่วยลดต้นทุนต่างๆ ให้ด้วย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการออกเอกสาร รวมถึงลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบบางรายการ ที่พิจารณาแล้วไม่กระทบกับเกษตรกรในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ตรึงราคาขายสินค้าในประเทศได้นานขึ้น