ปี 64 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบ???

หลังจากที่เทศกาลปีใหม่ ปี 64 ต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเดินหน้าเปิดประเทศของไทยหยุดชะงักไปชั่วหนึ่ง

โดยตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาล่าสุด ชัดเจนว่า ตัวเลขการขขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ออกมา ขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว

ซึ่งการหยุดชะงักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกนั้น ส่งผลให้การประมาณการการฟื้นตัวในภาพรวมของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อาจจะยืดยาวออกไปเป็นช่วงไตรมาสที่ 3

อย่างไรก็ตาม ธปท.รับว่า เมื่อมีการระบาดรุนแรงระลอล่าสุดของโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ  ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่าย และการเดินทางท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์หยุดชะงักอีกรอบ ซ้ำรอยเดิมกับช่วงเทศกาลปีใหม่   และยังไม่มีความมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะควบคุมการระบาดได้เร็วแค่ไหน และอาจจะต้องกลับไปใช้มาตรการขั้นสูงสุด “ล็อกดาวน์ประเทศ” อีกครั้งหากการระบาดรุนแรงอยู่ในสภาวะที่ควบคุมไม่ได้

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม และการฟื้นฟูเศรษฐกิจยิ่งจะมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้การกลับมาฟื้นตัวลากยาวล่าช้าออกไปอีก

นักวิชาการบางรายได้ออกว่า ระบุว่า “เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีโอกาสติดลบต่อเนื่องไปอีก 1 ไตรมาส  หากการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้อยู่ในสถานการณ์เลวร้าย

ในความเป็นจริง “เศรษฐกิจไทย” ปี 64 มีโอกาสกลับไปขยายตัวติดลบจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าหรือไม่ 

ในการจัดทำ  “รายงานนโยบายการเงิน” ล่าสุด ฉบับเดือน มี.ค. 64 ของธปท. นอกเหนือจากการประมาณการเศรษฐกิจกรณีฐานในปีนี้ไว้ว่า จะขยายตัวได้ 3% จากระยะเดียวกันของปีก่อนแล้ว ธปท.ยังได้มีการประมาณการเศรษฐกิจไทยในกรณีเลวร้าย และเลวร้ายที่สุด ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุด “มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ “ ได้เช่นกัน

แต่ก่อนที่จะไปถึง “กรณีเลวร้าย” และกรณีเลวร้ายที่สุด” นั้น เรามาดูที่กรณีฐาน (baseline) กันก่อน โดยธปท.คาดว่าหากสถานการณ์โควิด-19 รอบ 3 ไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3% 

ภายใต้ข้อสมมติ คือ  1. ไทยสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดระลอกใหม่จนเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 

2.ประเทศต่างๆ สามารถกระจายวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ได้อย่างทั่วถึงในช่วงกลางปี 2564 ทำให้ไทยเริ่มลดจ ำนวนวันกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ไตรมาส 2 จาก 14 วันเหลือ 10 วันสำหรับผู้ที่มีใบรับรองการปลอดเชื้อ (Covid-1Free Certificate) และ  7 วัน สำหรับยกเว้นการกักตัวผู้ที่ใบรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) 

โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และสามารถเปิดรับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขการฉีดวัคซีนและการตรวจเชื้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

และ 3. รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ธปท.มองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน ซึ่งขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงมาก จาก 4 ปัจจัย คือ 1.การทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยอาจล่าช้าออกไป เนื่องจากข้อจeกัดในการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด -19 อาทิ ความเพียงพอของวัคซีน ความกังวลของประชาชนในการฉีดวัคซีน และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส  2.แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่เหลือล่าช้า ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 

3. ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจและแรงงานจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) และ 4. อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนอาจเพิ่มสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง

โดยในกรณีฐาน (baseline) นั้น ธปท.ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 อยู่ที่ 3.0 ล้านคน โดยภาครัฐสามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และยกเว้นการกักตัวให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนและมีเอกสารรับรองการปลอดเชื้อโควิด-19 ได้ในไตรมาสที่ 4

ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยเกิดการระบาดรุนแรงรอบใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ คาดว่า การประมาณการขยายตัวในกรณีฐาน (baseline)นี้ คง “ตกไป” ไม่ได้ใช้แล้วอย่างแน่นอน 

มาถึงกรณีที่ 2. กรณีเลวร้าย (worse case) ซึ่ง ธปท.ประเมินว่า จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอีกรอบหนึ่งในปีนี้ ทำให้จำนวนนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นตัวจนถึงสิ้นปี 2564 

ซึ่งในกรณีที่เกิดการระบาดใหม่ จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ 3 ล้านในปีนี้ลดลงเหลือ  1 แสนคนส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลง หรือติดลบ 0.5 % ในปี 2564 

โดยภายใต้ข้อสมมติของ กรณีเลวร้าย (worse case)  ที่ธปท.ใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และการจัดหารวมถึงการกระจายวัคซีนของไทยล่าช้ากว่าคาด ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดประเทศโดยไม่มีเงื่อนไขการกักตัวออกไป 

2.มาตรการจeกัดการเดินทางระหว่างประเทศและสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศของจีน อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเคยเป็นตลาดหลักของไทย และ 3.เกิดfการกลายพันธุ์ของไวรัสในหลายประเทศที่ทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง ส่งผลกระทบให้ความต้องการท่องเที่ยวลดลง

ขณะที่การประมาณการ กรณีที่ 3. กรณีเลวร้ายที่สุด (worst case) ธปท. ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวช้ากว่ากรณีฐานค่อนข้างมาก ภายใต้ข้อสมมติว่าไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงในหลายประเทศ ทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงจนไม่สามารถลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ จึงต้องพัฒนาวัคซีนขึ้นใหม่และเริ่มฉีดได้ในช่วงต้นปี 2565 ส่งผลให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเลื่อนเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2565 

นอกจากนี้ ความล่าช้าของการพัฒนาวัคซีนจะกระทบเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดและกระทบห่วงโซ่การผลิต 

ในกรณีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 อยู่ที่ปีละ 1 แสนคน และกระทบต่อเนื่องถึงภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 หดตัวลง หรือติดลบ 1.7%  

อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่ากรณีเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือจะไม่เกิดขึ้น โดยการประมาณการของธปท.นั้น ทำเพื่อใช้ในการประเมินภาวะวิกฤตและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต รวมถึงเพื่อเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเท่านั้น 

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะมีทิศทางอย่างไรนั้น “กูรู” ที่ได้อ่านรายงานนโยบายการเงินของธปท.ส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่า จากการระบาดรอบใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ ได้ผลักเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “กรณีเลวร้าย”ในการประมาณการของธปท.

โดยต้องจับตาสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล การใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุม หรืองดเว้นการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อลดการแพร่ระบาด การออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่าย และการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งไทม์ไลน์ของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ต้องล่าช้าไป

หากคุมได้ภายใน 1-2 เดือน เศรษฐกิจไทยอาจจะอยู่ในระดับโตต่ำๆ ประมาณ 0-1% ได้ไม่ถึงขั้นติดลบ แต่หากการระบาดรอบนี้ลากยาวไปมากกว่า 3 เดือน โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบก็เป็นไปได้สูงขึ้นมาก

#Thejournalistclub #เศรษฐกิจคิดง่ายๆ #โควิด