ปี 64 ส่งออกไทยขยายตัว 17.1% โตเกินเป้า 4 เท่า

  • เศรษฐกิจโลกฟื้น-พาณิชย์จับมือเอกชนแก้ปัญหาทันท่วงที
  • ปี 65 ตั้งเป้าหมายโต 3-4% มูลค่าทะลุ 9 ล้านล้านบาท
  • ส่วนเดือนธ.ค.64 มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือนธ.ค.64 การส่งออกมีมูลค่า 24,930.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 24.2% เทียบกับเดือนธ.ค.63 คิดเป็นเงินบาท  810,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.54% การนำเข้า 25,284.5 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 33.4% คิดเป็นเงินบาท 833,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.36% ขาดดุลการค้า 354.2 ล้านเหรียญฯ แต่คิดเป็นเงินบาทได้ดุลการค้า 25,391 ล้านบาท  

ส่วนทั้งปี 2564 มีมูลค่า 271,173.5 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 17.1% เทียบปี 63 ขยายตัวเกินไปกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% โดยคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 8.542 ล้านล้านบาท เพิ่ม 18.91% การนำเข้า 267,600.3 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 29.8% คิดเป็นเงินบาท 8.549 ล้านล้านบาท เพิ่ม 32.01% เกินดุลการค้า 3,573.2 ล้านเหรียญฯ แต่คิดเป็นเงินบาทขาดดุล 6,980 ล้านบาท

โดยปัจจัยสนับสนุนการส่งออกปี 64 ได้แก่ 1.การทำงานร่วมกันของกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ที่แก้ปัญหาด้านการส่งออกอย่างทันท่วงที และทีมเซลล์แมนจังหวัด ทีมเซลล์แมนประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง การเร่งรัดการเจาะตลาดเมืองรองในรูปมินิเอฟทีเอ และมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก 2.เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 3.ภาคการผลิตทั่วโลกขยายตัวใน 4.ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งได้ และ 5.ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แม้ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้ราคาส่งออกสินค้าน้ำมันสำเร็จและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น

สำหรับการส่งออกเดือนธ.ค.64 ที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าสำคัญ 3 หมวด ได้แก่ สินค้าเกษตร เพิ่ม 21.1% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 เช่น, สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 24.1% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 24% ขณะที่ตลาดส่งออก ที่ขยายตัวในระดับสูง เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 54.4% รัสเซียและกลุ่มประเทศ ซีไอเอส เพิ่ม 45.8% สหรัฐฯ เพิ่ม 36.5% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 36.5% อาเซียน เพิ่ม 35% และทวีปแอฟริกา เพิ่ม 34.1% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 29.5% เป็นต้น

นายจุรินทร์ กล่าวต่อถึงการส่งออกในปี 65 ว่า ตั้งเป้าหมายมูลค่าขยายตัวที่ 3-4% จากปี 64 มีมูลค่า 270,000-282,000 ล้านเหรียญฯ หรือ 9.08-9.16 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุน คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจและการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัว, ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก, ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะคลี่คลายในช่วงกลางปีนี้ถึงปลายปี หลังจากจีนผลิตตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น ,  การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าไอที อุปกรณ์อัจฉริยะ ที่ไทยเป็นผู้ส่งออก, โควิด-19 ที่คาดความรุนแรงจะลดลง ทำให้อุปสรรคลดลง และการบังคับใช้ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)  ที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมตัวเลขการส่งออกได้มากขึ้น